Why Nostr? What is Njump?
2023-10-14 07:56:40

เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 10)

10. ช้างเผือก

“สิ่งที่แอฟริกาต้องทำคือการเติบโต เติบโตโดยไม่ต้องพึ่งพาการสร้างหนี้”

–George Ayittey

ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ผู้กำหนดนโยบายจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประธานธนาคารโลกอย่างคุณ Robert McNamara ได้มองเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าหนทางเดียวที่เหล่าประเทศยากจนจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้ มีเพียงการก่อหนี้เพิ่ม

IMF มักจะพ่วงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างควบคู่มากับการปล่อยเงินกู้ตลอด แต่จริง ๆ แล้วในช่วงไม่กี่ทศวรรษแรกนั้น ธนาคารโลกจะปล่อยกู้เฉพาะรายโครงการหรือรายภาคอุตสาหกรรมไป ไม่ได้มีการพ่วงเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในช่วงที่คุณ Robert McNamara เข้ามาดำรงตำแหน่ง การปล่อยสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างแบบหว่านไปทั่วกลายเป็นที่นิยม และหลังจากนั้นมันก็กลายเป็นวิธีการปล่อยกู้ที่มีบทบาทสำคัญของธนาคารโลกในยุค 1980

เหตุผลนั้นก็ง่าย ๆ คือนายธนาคารเหล่านี้มีเงินให้ปล่อยกู้จำนวนมหาศาล และมันง่ายที่จะปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ ๆ ออกไป ถ้าเงินก้อนนั้นไม่ต้องผูกติดกับโครงการใดโครงการหนึ่ง และอย่างที่คุณ Payer ชี้ว่า “เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าใน 1 สัปดาห์” เมื่อเป็นการปล่อยกู้ในรูปแบบเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้าง

image

“ส่วนผู้ที่มากู้นั้นก็ดีใจเป็นที่สุด” คุณ Hancock ได้กล่าว “รัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่ฉ้อฉลและประธานาธิบดีเผด็จการจากประเทศแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา แทบจะสะดุดล้มบนรองเท้าราคาแพงของพวกเขา เพราะรีบร้อนแห่กันวิ่งเข้ามาเพื่อรับการปรับโครงสร้างในแบบที่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะสำหรับคนเหล่านี้ นี่คือเงินที่ได้มาง่ายที่สุดในชีวิต ไม่ต้องมีโครงการซับซ้อนให้ต้องบริหารจัดการ และไม่มีบัญชียุ่งเหยิงให้ต้องดูแล เหล่าคนที่ต่ำทราม โหดเหี้ยม และน่าขยะแขยงเหล่านี้แทบจะหัวเราะร่าตลอดการเดินทางไปยังธนาคารโลก สำหรับพวกเขาแล้วการปรับโครงสร้างนั้นเหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องใด ๆ ของประชาชนหรือเสียสละอะไรเป็นการส่วนตัวเลย สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องทำ ซึ่งฟังแล้วน่าตกใจแต่มันเป็นความจริง ก็คือการปล้นคนจน”

นอกเหนือจากการปล่อยเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้าง “สำหรับใช้เป็นการทั่วไป” อีกหนึ่งวิธีที่จะผลาญเงินจำนวนมากคือการให้เงินสนับสนุนโครงการที่เป็นเมกะโปรเจกต์ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักกันในนาม “ช้างเผือก (White Elephants)” ทุกวันนี้เศษซากแห่งความล้มเหลวของโครงการช้างเผือกยังคงกระจัดกระจายอยู่ทั้งในทะเลทราย ในหุบเขา และในผืนป่าของประเทศกำลังพัฒนา สิ่งก่อสร้างใหญ่ขนาดยักษ์เหล่านี้ยังเป็นที่อื้อฉาวในเรื่องการสร้างหายนะต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน

ตัวอย่างที่ดีคงจะเป็นเขื่อน Inga โครงการมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่สร้างในประเทศชาอีร์ (หมายเหตุผู้แปล : ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ในปี 1972 ซึ่งสิ่งปลูกสร้างที่ธนาคารโลกให้เงินทุนสนับสนุนนี้ได้ป้อนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการกอบโกยผลประโยชน์จากจังหวัด Katanga ที่อุดมไปด้วยสินแร่ โดยไม่คิดแม้แต่จะติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าตามเส้นทางสายส่งไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านจำนวนมากในหลาย ๆ หมู่บ้านที่ยังต้องใช้ตะเกียงน้ำมันอยู่ด้วยซ้ำ

image

หรือจะเป็นโครงการท่อส่งน้ำมันระหว่างประเทศชาดกับประเทศแคเมอรูนในช่วงทศวรรษ 1990 โครงการที่ธนาคารโลกให้เงินสนับสนุนมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ถูกสร้างขึ้นสำหรับสูบเอาทรัพยากรทั้งหมดจากผืนดิน เพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ผู้นำเผด็จการ อีดริส เดบี และผู้ร่วมขบวนการจากต่างชาติ ในขณะที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย โดยในช่วงระหว่างปี 1979 ถึง 1983 บรรดาโครงการเขื่อนโรงฟ้าพลังน้ำที่ธนาคารโลกให้เงินทุนสนับสนุน “บีบให้ผู้คนอย่างน้อย 400,000 ถึง 450,000 คนใน 4 ทวีปต้องย้ายถิ่นฐานอย่างไม่เต็มใจ”


หมายเหตุผู้แปล : อีดริส เดบี (Idriss Déby) เป็นประธานาธิบดีของประเทศชาด โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1990–2021

คุณ Hancock ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหล่าโครงการช้างเผือกนี้ไว้ในหนังสือ “Lords Of Poverty” ยกตัวอย่าง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินสิงคราอุลี ในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลกเกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

image

เหมืองถ่านหินที่สิงคราอุลี

“ณ ที่แห่งนี้” คุณ Hancock เขียน “ด้วยการอ้างว่ากระทำไปเพื่อการพัฒนานั้น ทำให้คนยากจนในชนบทกว่า 300,000 คนต้องเผชิญกับการถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานทุกครั้งที่มีการเปิดเหมืองหรือโรงไฟฟ้าแห่งใหม่... แผ่นดินถูกทำลายจนราบคาบราวกับหลุดมาจากฉากก้นบึ้งขุมนรกในนิยายเรื่องนรกของดันเต (Dante’s Inferno) มันถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นละอองและมลพิษแทบทุกชนิดที่เป็นไปได้ในปริมาณมหาศาล สารพิษปนเปื้อนทั้งในน้ำและในอากาศจนสร้างปัญหาด้านสาธารณะสุขให้ผู้คนอย่างใหญ่หลวง วัณโรคระบาดไปทั่ว แหล่งน้ำสะอาดถูกทำลาย และโรคมาลาเรียชนิดที่ดื้อต่อยาคลอโรควิน (Chloroquine) ก็สร้างความเจ็บป่วยแก่คนในพื้นที่ จากเหล่าหมู่บ้านที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง ตอนนี้กลับเหลือเพียงกระท่อมและเพิงกระต๊อบพัง ๆ ที่มีสภาพความเป็นอยู่สุดเลวร้ายในบริเวณพื้นที่โดยรอบของโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่...

ชาวบ้านบางคนต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในบ่อเปิดของเหมือง ชาวไร่กว่า 70,000 คนที่ก่อนหน้านี้สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้กลับถูกพรากจากทุกสิ่งที่เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ พวกเขาจึงไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจากจะกล้ำกลืนความขุ่นเคืองไว้ในใจ และจำยอมเป็นแรงงานรายวันในสิงคราอุลี สถานที่ซึ่งไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน เพื่อแลกค่าแรงต่ำต้อยเพียงวันละ 70 เซ็นต์ ถือเป็นระดับค่าแรงที่ต่ำเกินกว่าจะดำรงชีวิตอยู่ได้แม้กระทั่งในประเทศอย่างอินเดียก็ตาม”


หมายเหตุผู้แปล : นรก (Inferno) เป็นงานเขียนในบทแรกของมหากาพย์ The Divine Comedy โดยดันเต อาลีเกียรี (Dante Alighieri) ซึ่งเป็นกวี นักเขียน และนักปราชญ์ของฟลอเรนซ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 14

ในประเทศกัวเตมาลานั้นคุณ Hancock อธิบายถึงเขื่อนผลิตพลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ชื่อ Chixoy ที่สร้างด้วยเงินทุนสนับสนุนของธนาคารโลกบนที่ราบสูงมายันว่า

“จากเดิมที่ถูกวางงบประมาณไว้ 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” เขาเขียน “แต่กว่าจะถึงปี 1985 ที่เขื่อนได้เริ่มเปิดทำการ ค่าก่อสร้างก็ได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ... เงินกู้ถูกปล่อยให้กับรัฐบาลกัวเตมาลาผ่านกลุ่มเงินทุนซึ่งถูกชักนำโดยธนาคารโลก... รัฐบาลทหารของนายพล โรมิโอ ลูคัส การ์เซีย ซึ่งครองอำนาจเกือบตลอดช่วงการก่อสร้างเขื่อน และเป็นผู้ที่ลงนามข้อตกลงนั้น เป็นที่โจษจันในหมู่นักวิเคราะห์ทางการเมืองว่าเป็นรัฐบาลที่ฉ้อฉลที่สุดในประวัติศาตร์ของประเทศในเขตอเมริกากลาง ซึ่งถือเป็นเขตปกครองที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่โหดเหี้ยมและคอรัปชันมากอยู่แล้ว เหล่าสมาชิกของระบอบทหารนี้ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากงบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่กู้มาเพื่อสร้างเขื่อน Chixoy”


หมายเหตุผู้แปล : เฟร์นันโด โรมิโอ ลูคัส การ์เซีย (Fernando Romeo Lucas García) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศกัวเตมาลาในช่วงปี 1978-1982

และตัวอย่างสุดท้ายคือประเทศบราซิล... คุณ Hancock ได้อธิบายถึงหนึ่งในโครงการของธนาคารโลกที่ร้ายกาจที่สุด นั่นคือ “แผนการครอบครองดินแดนและโยกย้ายถิ่นฐานขนาดมโหฬาร” เป็นที่รู้จักในนาม “Polonoroeste” ธนาคารโลกได้ลงเงินเพื่อริเริ่มโครงการนี้จนถึงปี 1985 ไปแล้วกว่า 434.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลงเอยด้วยการเปลี่ยน “กลุ่มคนยากจนให้กลายเป็นผู้ลี้ภัยในที่ดินของพวกเขาเอง”

image

แผนการนี้ “หลอกผู้คนที่ยากไร้นับแสนรายให้อพยพจากจังหวัดทางตอนกลางและตอนใต้ของบราซิล ไปตั้งรกรากใหม่เป็นชาวไร่ในเขตลุ่มแม่น้ำแอมะซอน” เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ “ในขณะที่เงินกู้จากธนาคารโลกนั้น” คุณ Hancock เขียน “ถูกใช้จ่ายเป็นค่าก่อสร้างทางหลวง BR-346 อย่างรวดเร็ว ถนนเส้นนี้วิ่งผ่านใจกลางจังหวัด Rondonia ที่อยู่ในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของบราซิล โดยเหล่ากลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามายึดครองที่ดินใช้เส้นทางตามถนนนี้ เพื่อเดินทางไปยังไร่ที่พวกเขาตัดต้นไม้และเผาป่าจนราบหมดแล้ว...

ในปี 1982 มีป่าถูกทำลายไปแล้วถึงร้อยละ 4 และเมื่อถึงปี 1985 จังหวัด Rondonia มีป่าถูกทำลายไปกว่าร้อยละ 11 ของพื้นที่ ภาพถ่ายสำรวจทางอวกาศโดย NASA แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าในทุก 2 ปี

ผลลัพธ์ของโครงการนี้คือในปี 1988 “พื้นที่ของป่าเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเบลเยี่ยมถูกเผาโดยกลุ่มผู้ที่เข้ามายึดครองที่ดิน” คุณ Hancock ยังชี้ด้วยว่า “มีการประมาณการว่ากลุ่มผู้ที่เข้ามายึดครองที่ดินราว 200,000 คนติดโรคมาลาเรียสายพันธุ์ร้ายแรง ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่นในเขตตะวันตกเฉียงเหนือที่พวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกัน

โครงการที่น่ารังเกียจเหล่านี้เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างมหาศาลของสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ และจากการที่ผู้ปล่อยกู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปปล่อยกู้ รวมถึงการบริหารของข้าราชการท้องถิ่นที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ และยังฉวยโอกาสยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ ทั้งหมดล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากนโยบายที่พยายามปล่อยเงินกู้แก่ประเทศโลกที่สามให้มากที่สุด เพื่อให้วงแชร์ลูกโซ่ของหนี้สินยังไปต่อได้ และเพื่อให้การไหลของทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยตัวอย่างที่น่ากลัวที่สุดนั้นอาจจะอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเราจะพูดถึงในตอนต่อไป...


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)

Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04