Why Nostr? What is Njump?
2023-10-17 06:19:15

เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 14)

14. การล่าอาณานิคมแบบรักษ์โลก

“ถ้าคุณตัดไฟฟ้าในชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้วแค่ไม่กี่เดือน สิ่งที่ดูเหมือนพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคลตลอด 500 ปีที่ผ่านมานั้น จะอันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว ราวกับไม่เคยมีตัวตนอยู่”

–Murtaza Hussain

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การปฏิบัติแบบสองมาตรฐานรูปแบบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น มันคือการล่าอาณานิคมแบบรักษ์โลก อย่างน้อยนั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการชาวเซเนกัลอย่างคุณ Magatte Wade ใช้เรียกความเสแสร้งของชาติตะวันตกต่อประเด็นการใช้พลังงานตลอดการสัมภาษณ์สำหรับบทความนี้

คุณ Wade ย้ำกับเราว่าเหล่าประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาอารยธรรมของตัวเองจากการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขโมยหรือซื้อมาในราคาแสนถูกจากประเทศที่ยากจน หรือไม่ก็ไปปล้นมาจากประเทศใต้อาณานิคม) แต่ทุกวันนี้ธนาคารโลกและกองทุน IMF กลับพยายามจะผลักดันนโยบายห้ามไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาทำแบบเดียวกัน


หมายเหตุผู้แปล : เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons) หรือที่รู้จักในอีกชื่อคือเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) โดยตัวอย่างของเชื้อเพลิงนี้ อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเคยใช้ถ่านหินและน้ำมันจากประเทศโลกที่สามได้เต็มที่ แต่ธนาคารโลกและกองทุน IMF กลับกดดันให้ชาติในแอฟริกาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งถูกผลิตและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากชาติตะวันตก

ความเสแสร้งนี้แสดงออกมาให้เห็นชัดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ประเทศอียิปต์ เหล่าผู้นำโลกมารวมตัวกันในการประชุม COP27 (การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมือง Sharm el-Sheikh) เพื่อหารือถึงวิธีลดการใช้พลังงาน การเลือกสถานที่ประชุมในแอฟริกานั้นก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เหล่าผู้นำชาติตะวันตกซึ่งกำลังวิ่งเต้นหาซื้อเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น เพราะไม่สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนจากประเทศรัสเซียได้อีกแล้ว ต่างก็เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วยเครื่องบินส่วนตัวที่ซดน้ำมันเป็นว่าเล่น เพื่อไปเรียกร้องให้เหล่าประเทศที่ยากจนต้องทำการลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) การประชุมนี้ถูกจัดโดยผู้นำเผด็จการทหารในประเทศ ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมปกติของธนาคารและกองทุน IMF อย่างที่เป็นมาตลอด

โดยระหว่างงานเทศกาลของการประชุมนี้ คุณ Alaa Abd Al Fattah นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงของอียิปต์กำลังเหนื่อยล้าสิ้นแรงจากการอดอาหารประท้วงอยู่ในคุก

image

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) เดินทางมาถึงการประชุม COP27 ด้วยเครื่องบินส่วนตัว

“ช่างเหมือนช่วงเวลาในอดีตที่เรายังเป็นอาณานิคม และมีเจ้าอาณานิคมคอยกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสังคมของเราควรจะเดินไปอย่างไร” คุณ Wade กล่าว “ไอ้เรื่องวาระรักษ์โลกนี้คือวิธีรูปแบบใหม่ที่ใช้ปกครองพวกเรานี่แหละ นี่คือเหล่าเจ้านายที่กำลังสั่งว่าเราควรจัดการอย่างไรกับพลังงาน สั่งเราว่าพลังงานอะไรที่ควรใช้และจะใช้ได้ตอนไหน น้ำมันที่เรามีก็อยู่ในดินของเรา มันเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของเรา แต่ตอนนี้พวกเขากำลังบอกเราว่าห้ามใช้น้ำมันของเราเนี่ยนะ? ทั้งที่พวกเขาเคยปล้นน้ำมันจากแผ่นดินเราไปเป็นของตัวเองมาแล้วนับไม่ถ้วนอย่างนั้นเหรอ?”

คุณ Wade ชี้ให้เห็นว่าเมื่อประเทศมหาอำนาจเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ (อย่างที่เจอในหน้าหนาวปี 2022) พวกเขาก็จะกลับไปใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทันที ในขณะที่ประเทศยากจนกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ และเธอยังชี้ว่าในอดีตเมื่อมีผู้นำประเทศโลกที่สามพยายามจะผลักดันการพัฒนาพลังงานไปในทิศทางดังกล่าว ผู้นำบางคนที่โดดเด่น เช่น ในปากีสถานและบราซิล ลงเอยด้วยการถูกลอบสังหาร

คุณ Wade กล่าวว่าภารกิจในชีวิตของเธอคือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ทวีปแอฟริกา ตัวเธอเองเกิดที่ประเทศเซเนกัล ก่อนจะย้ายไปอยู่ประเทศเยอรมนีตอนอายุ 7 ขวบ เธอยังจำวันแรกของเธอในยุโรปได้เป็นอย่างดี เธอเคยชินว่าการอาบน้ำเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เพราะต้องมีการจุดเตาถ่าน ต้มน้ำให้ร้อน ผสมน้ำเย็นเพื่อลดความร้อนลง และลากถังน้ำไปยังจุดอาบน้ำ แต่ในประเทศเยอรมนี สิ่งที่เธอต้องทำก็มีแค่การหมุนคันโยกเปิดน้ำ

“ตอนนั้นฉันทึ่งมาก” เธอกล่าว “และคำถามนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชะตาชีวิตของฉันไปตลอดกาล คำถามที่ว่าคือทำไมพวกเขาถึงมีสิ่งนี้ที่นี่ แต่เรากลับไม่มีบ้างที่โน่น”

เมื่อเวลาผ่านไปคุณ Wade เรียนรู้ว่าสาเหตุที่ชาติตะวันตกเจริญได้ก็เพราะการมีหลักนิติธรรม การมีสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์ที่มีความชัดเจนและเปลี่ยนมือได้ และการมีสกุลเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มั่นคงและเชื่อถือได้

“เราไม่ควรมีข้อจำกัดในด้านใช้พลังงานแบบที่ยอมให้ผู้อื่นมาบังคับเราได้” คุณ Wade กล่าว แต่ถึงอย่างนั้นทางธนาคารโลกและกองทุน IMF ก็ยังคงกดดันประเทศยากจนเรื่องนโยบายพลังงานต่อไป โดยเมื่อช่วงกันยายน ปี 2022 ประเทศเฮติยอมจำนนต่อแรงกดดันจากธนาคารโลกและกองทุน IMF ที่จะหยุดเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิง “ผลลัพธ์นั้น” คุณ Michael Schellenberger นักข่าวด้านพลังงานได้เขียนไว้ว่า “คือการจลาจล การปล้นสะดม และความโกลาหล”

image

ในปี 2018 คุณ Schellenberger กล่าวว่า “รัฐบาลเฮติเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของ IMF ที่จะตัดเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการเข้ารับเงินกู้ 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลก สหภาพยุโรป และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างทวีปอเมริกา (Inter-American Development Bank) การที่รัฐบาลตัดสินใจแบบนั้นกระตุ้นให้เกิดการประท้วงที่ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกในท้ายที่สุด

“มากกว่า 40 ประเทศ นับตั้งแต่ปี 2005” เขากล่าว “มีการจลาจลที่ปะทุขึ้นหลังจากมีการตัดเงินอุดหนุนด้านเชื้อเพลิง หรือไม่ก็การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน”

นี่ถือเป็นจุดสูงสุดในความเสแสร้ง เพราะชาติตะวันตกเจริญขึ้นได้โดยมีพื้นฐานจากการบริโภคพลังงานที่แข็งแกร่งและการที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนค่าพลังงาน แต่พวกเขากลับพยายามเข้ามาแทรกแซงเพื่อจำกัดรูปแบบและปริมาณของพลังงานที่ประเทศยากจนจะสามารถใช้ได้ การกระทำนี้ส่งผลให้ราคาพลังงานที่ประเทศยากจนต้องใช้มีราคาที่แพงขึ้น แผนการที่มีแนวความคิดแบบมาลธูเซียนนี้ตรงกับความเชื่อของอดีตประธานธนาคาร อย่างคุณโรเบิร์ต แม็กนามาราที่ได้มีการเก็บบันทึกไว้ นั่นคือการเติบโตของจำนวนประชากรถือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ และแน่นอนว่าทางแก้ปัญหานั้นจะต้องเป็นการลดจำนวนประชากรในประเทศที่ยากจน ไม่ใช่การลดจำนวนประชากรของประเทศที่ร่ำรวย


หมายเหตุผู้แปล : แนวความคิดแบบมาลธูเซียน (Malthusian) คือแนวคิดที่อยู่บนทฤษฎีของทอมัส โรเบิร์ต มาลธัส (Thomas Robert Malthus) นักวิชาการชาวอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 18-19 โดยมีทฤษฎีว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากกว่าปริมาณอาหารหรือทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุมจำนวนประชากร

“พวกเขาทำเหมือนกับพวกเราเป็นการทดลองเล็ก ๆ” คุณ Wade กล่าว “โดยที่พวกชาติตะวันตกนั้นคิดว่า โอเค.. อาจจะต้องมีคนตายระหว่างทางบ้าง แต่เรามาทดลองดูกันเถอะว่าพวกประเทศยากจนเหล่านี้จะพัฒนาตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานแบบที่พวกเราใช้ได้หรือเปล่านะ”

“นี่” เธอกล่าว “พวกเราไม่ใช่หนูทดลองนะ!”


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)

Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04