Why Nostr? What is Njump?
2023-10-13 07:38:01

RightShiftCuration on Nostr: บทความ #FuckIMF ตอน 13 ...

บทความ #FuckIMF ตอน 13 เอาใจคนหาอะไรอ่านวันหยุดยาว!🔥

"เมื่อชาติอีลีทเจ้าหนี้ IMF และธนาคารโลกจะทำอะไรก็ได้ตามใจ แต่ชาติด้อยพัฒนาโดนสั่งห้ามทำเด็ดขาด"

ไม่ได้ใช้แอป #Amethyst ?
✅อ่านแบบฟอแมตสวย https://w3.do/-vf67cc-
✅อ่านแบบฟอนต์สบายตา #Habla https://w3.do/4xHQ1pot

13. ทำอย่างที่ฉันพูด ไม่ใช่ทำอย่างที่ฉันทำ

“วิถีชีวิตของพวกเรานั้นไม่ได้มีไว้ต่อรอง”

–George H.W. Bush


หมายเหตุผู้แปล : จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H.W. Bush) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างปี 1989-1993

ในโลกที่มีระบบตลาดเสรีอย่างแท้จริง นโยบายที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF บังคับใช้ต่อประเทศยากจนอาจจะเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะจากประวัติศาสตร์แล้ว ผลลัพธ์ของระบอบสังคมนิยมและการยึดกิจการเอกชนให้กลายเป็นของรัฐนั้นคือความหายนะ แต่ทว่าปัญหาคือโลกไม่ได้เป็นระบบตลาดเสรีที่แท้จริง และการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานก็มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

การให้เงินอุดหนุนต่าง ๆ ถือเป็นตัวอย่างที่ดี โครงการข้าวสารฟรีในประเทศศรีลังกา หรือส่วนลดราคาเชื้อเพลิงในประเทศไนจีเรียถูก IMF สั่งให้ยกเลิก แต่ชาติผู้ปล่อยเงินกู้อย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกากลับหยิบยื่นสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากภาครัฐและเงินอุดหนุนพืชผลให้แก่ประชาชนของพวกเขาเองเสียอย่างนั้น

ไม่ว่าคุณจะมองจากมุมมองแบบอิสรนิยมหรือมุมมองแบบมาร์กซิสม์ คุณก็จะได้ข้อสรุปเดียวกันว่านี่คือการปฏิบัติสองมาตรฐานที่ทำให้บางประเทศร่ำรวย และปล่อยให้ประเทศอื่นเป็นผู้รับเคราะห์แทน ซึ่งประชาชนของประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้อะไรเลย และต่างก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญ

ในการช่วยให้ชาติต่าง ๆ ฟื้นตัวจากเศษซากของสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเจ้าหนี้ของ IMF พึ่งพิงการวางแผนจากส่วนกลางและนโยบายต่อต้านตลาดเสรีอย่างหนักในช่วงไม่กี่ทศวรรษแรกหลังการประชุมที่เบรตตัน วูดส์ เช่น การจำกัดการนำเข้า การจำกัดการไหลออกของเงินทุน การตั้งเพดานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และการให้เงินอุดหนุนสินค้าการเกษตร ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยปกป้องเศรษฐกิจของชาติอุตสาหกรรมเอาไว้ในช่วงที่กำลังอ่อนแอที่สุด

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกามีพรบ. การปรับดอกเบี้ยให้เท่าเทียม (Interest Equalization Act) ซึ่งออกในสมัยของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อหยุดชาวอเมริกันจากการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ และกระตุ้นให้หันมาสนใจการลงทุนในประเทศ นี่ถือเป็นหนึ่งในหลาย ๆ มาตรการที่ออกมาเพื่อควบคุมเงินทุน แต่ธนาคารโลกและกองทุน IMF กลับมีประวัติในการกีดกันไม่ให้ประเทศที่ยากจนสามารถใช้มาตรการเดียวกันนี้เพื่อปกป้องประเทศตัวเองได้บ้าง


หมายเหตุผู้แปล : จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งถูกลอบสังหารในปี 1963

อย่างที่คุณ Payer ตั้งข้อสังเกตว่า “IMF ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องการปรับอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการค้าของประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวย... แต่กลุ่มชาติที่อ่อนแอต่างหากที่ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้หลักการของ IMF อย่างเต็มสูบ... ความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้แปลว่ากองทุน IMF จงใจมองไม่เห็นการ 'บิดเบือนกลไกตลาด' เช่น การกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาติที่ร่ำรวยทำกันเป็นเรื่องปกติ”

คุณ Vásquez และคุณ Bandow จากสถาบัน Cato ก็ได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กัน โดยชี้ว่า “ชาติอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงแนวความคิดของการเป็นผู้อุปถัมภ์ต่อประเทศด้อยพัฒนา แต่มันเหมือนเป็นการเสแสร้งชัด ๆ เพราะพวกเขานี่แหละที่คอยกีดกันการส่งออกของประเทศเหล่านั้น”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าเสรี แต่ทางสหรัฐฯ กลับเสมือน “ตั้งม่านเหล็กขัดขวางการส่งออกของชาติในยุโรปตะวันออก สินค้าที่ได้รับผลกระทบนั้นรวมไปถึงสิ่งทอ เหล็ก และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร” โดยประเทศโปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย บอสเนีย โครเอเชีย สโลวีเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จอร์เจีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน มอลโดวา รัสเซีย ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถานนั้นต่างก็ตกเป็นเป้าหมายการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกาที่ไม่ต้องการให้ประเทศในยุโรปตะวันออก “ขายเนย นมผง หรือไอศกรีมแม้แต่กิโลกรัมเดียวในสหรัฐฯ” คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบุช และคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีคลินตัน นั้นต่างก็ตั้งข้อจำกัดที่แข็งกร้าวต่อประเทศในพื้นที่แถบนั้นในการนำเข้าสารเคมีและสินค้าเภสัชกรรม


หมายเหตุผู้แปล : - จอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์กเกอร์ บุช (George Herbert Walker Bush) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1989-1993

- วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน (William Jefferson Clinton) หรือรู้จักในนามบิล คลินตัน (Bill Clinton) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐอเมริกา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1993-2001

มีการประมาณการว่าลัทธิการคุ้มครองทางการค้าโดยประเทศอุตสาหกรรมนั้น “ทำให้รายได้ของประเทศกำลังพัฒนาลดลงไปมากกว่า 2 เท่าของตัวเลขความช่วยเหลือที่ได้รับ” พูดอีกนัยหนึ่ง ถ้าชาติตะวันตกเปิดเศรษฐกิจให้เสรี พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือใด ๆ ต่อชาติยากจนด้วยซ้ำ

ข้อตกลงเงินกู้ยังมีจุดหักมุมที่บัดซบอยู่อีกด้วย นั่นคือในยามที่ชาติตะวันตก (เช่น สหรัฐอเมริกา) เจอปัญหาวิกฤตเงินเฟ้อแบบที่กำลังเจออยู่ในทุกวันนี้ และถูกบีบให้ต้องใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมมากขึ้น พวกเขากลับได้อำนาจเพิ่มขึ้นในการควบคุมประเทศและทรัพยากรของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ เพราะหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์เริ่มจะหามาชำระคืนได้ยากกว่าเดิม พวกเขาเลยต้องติดกับดักหนี้ที่ลึกกว่าเก่า จนต้องทำตามเงื่อนไขของธนาคารโลกและกองทุน IMF มากขึ้นไปอีก

ในปี 2008 ช่วงระหว่างวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ ทางการสหรัฐอเมริกาและทางการยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินพิเศษเพิ่มให้กับธนาคารในประเทศ แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตหนี้สินในประเทศโลกที่สาม ธนาคารโลกและกองทุน IMF ไม่ยินยอมให้ชาติเหล่านี้ทำพฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่กลับแนะนำประเทศที่ได้รับผลกระทบว่าควรจะใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายในประเทศ และควรกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่ม

ในเดือนกันยายน 2022 ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ระบุว่า IMF “มีความกังวล” เกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ตลาดพันธบัตรของพวกเขาค่อย ๆ เดินเข้าใกล้การล่มสลาย นี่แสดงให้เห็นถึงความเสแสร้งอีกครั้ง เพราะเมื่อพิจารณาจากการที่ IMF ดูจะไม่เคยเป็นห่วงเกี่ยวกับเงินเฟ้อเลยทุกครั้งที่สั่งให้ลดค่าเงินของคนหลายพันล้านคนทั่วโลกตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาติผู้ให้กู้นั้นดูจะเล่นอยู่บนกติกาที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ในกรณีตัวอย่างสุดท้ายของการ “ทำอย่างที่ฉันพูด ไม่ใช่ทำอย่างที่ฉันทำ” คือการที่ IMF ยังคงถือทองคำจำนวนมหาศาลถึง 90.5 ล้านออนซ์ หรือประมาณ 2,814 เมตริกตัน โดยส่วนใหญ่สะสมมาจากช่วงทศวรรษ 1940 ที่ตอนนั้นชาติสมาชิกถูกบังคับให้ชำระเงินด้วยทองคำจำนวนร้อยละ 25 ของโควตาที่ได้รับ ซึ่งจริง ๆ แล้วจนกระทั่งถึงปี 1970 นั้นถือเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ชาติสมาชิก “จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ IMF ด้วยทองคำ”

เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันยุติการใช้มาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการในปี 1971 ทาง IMF ก็ไม่ได้ขายทองคำสำรองของพวกเขาออกไป แต่ถึงกระนั้น การพยายามจะตรึงค่าเงินเข้ากับทองคำของชาติสมาชิกใด ๆ กลับถูกสั่งห้ามเสียอย่างนั้น...


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)

#siamstr
Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04