Why Nostr?What is Njump?
Jakk Goodday
npub1mqc…nz85
2024-05-09 13:40:17

Jakk Goodday on Nostr: ## **Marginal utility - ...

## **Marginal utility - ปรัชญาแห่งแก้วเบียร์**
### จากอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มสู่ความสุขที่พอดี 🍻

เสียงดนตรีโฟล์คซองบรรเลงแผ่วเบาภายในร้าน ภายใต้แสงไฟสีส้มนวลซึ่งทอดตัวลงบนโต๊ะไม้ขัดเงา ก่อให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นและผ่อนคลาย


คืนนี้เป็นคืนพิเศษ.. กลุ่มแก็งค์ Right Shift กำลังสังสรรค์ พูดคุยย้อนความหลัง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต

แก้วเบียร์ใบแรกถูกยกขึ้น.. ฟองสีขาวนวลลอยฟู ส่งกลิ่นฮ็อพหอมกรุ่น ทุกคนจิบมันอย่างช้าๆ ดื่มด่ำกับเนื้อหนัง รสชาติ และความรู้สึกสดชื่นที่แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย

"แก้วแรกนี่มันช่างวิเศษจริงๆ" จิงโจ้เอ่ยขึ้น

"เหมือนทฤษฎีอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เราพึ่งอ่านเลย หน่วยแรกของสินค้ามักให้ความพึงพอใจสูงสุด" ซุปกล่าว

เสียงหัวเราะดังขึ้นเบาๆ ตามมาด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่พวกเขาเคยเรียน

“อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม” หรือ “Marginal Utility” เป็นแนวคิดที่ว่า ความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการจะลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีปริมาณการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

เหมือนกับเบียร์แก้วแรกที่ให้ความสดชื่นสูงสุด แต่แก้วต่อๆ ไป ความสดชื่นก็จะลดลงและถูกแทนที่ด้วยความเมา..

จากนั้นแก้วที่สองก็ถูกยกขึ้น..

บทสนทนาเริ่มออกรสออกชาติ พวกเขาเล่าถึงประสบการณ์ชีวิต ความสำเร็จ ความล้มเหลว รวมถึงบทเรียนที่ได้รับ

เบียร์แก้วที่สองเปรียบเสมือนตัวช่วยคลายความกังวล เปิดใจให้กว้าง และรับฟังกันและกัน มันช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง

เหมือนที่นักปรัชญากรีกโบราณนิยมดื่มไวน์เพื่อกระตุ้นความคิด และสร้างบทสนทนาเชิงปรัชญา

แก้วที่สาม.. เสียงหัวเราะดังขึ้นบ่อยครั้ง มุกตลกที่เคยแป้ก กลับกลายเป็นเรื่องขบขัน ความคิดอ่านเริ่มเป็นอิสระ ชักจะโลดแล่นไปไกล

เบียร์แก้วที่สามช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ และทำให้มองโลกในแง่ดี เหมือนกับที่ศิลปินหลายคนใช้แอลกอฮอล์เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

แต่… เมื่อถึงแก้วที่สี่

พวกเขาเริ่มรู้สึกมึนหัว.. การสนทนาเริ่มวกวน ความคิดเริ่มไม่ปะติดปะต่อ ร่างกายส่งสัญญาณเตือนว่า "พอได้แล้ว" อรรถประโยชน์จากเบียร์ชักจะลดลง ความสุขเริ่มจางหาย แทนที่ด้วยความรู้สึกไม่สบายตัวสักเท่าไหร่

การฝืนดื่มแก้วที่ห้า หรือหก ไม่ได้ช่วยให้ความสุขกลับคืนมา ความเมาที่กำลังเพิ่ทขึ้นมีแต่จะทำให้แย่ลง เหมือนกับการบริโภคสิ่งต่างๆ ที่มากเกินไป มันมักจะนำมาซึ่งผลเสียมากกว่าผลดี

คืนนั้น.. พวกเขากลับบ้านพร้อมกับความทรงจำดีๆ และบทเรียนอันล้ำค่า พวกเขาเรียนรู้ที่จะ "พอ" และเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณแต่อยู่ที่ความพอดี และความสมดุล

เหมือนกับปรัชญา "ทางสายกลาง" ของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป เพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" และ "แก้วเบียร์" สอนให้เรารู้ว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่การไขว่คว้า หรือการบริโภคแต่อยู่ที่การรู้จักพอ และดื่มด่ำกับสิ่งที่มีอยู่อย่างมีสติ


รุ่งเช้า.. แสงแดดอ่อนๆ ส่องลอดผ้าม่านเข้ามา ปลุกให้ทุกคนตื่นจากภวังค์ ความทรงจำจากค่ำคืนที่ผ่านมาค่อยๆ ผุดขึ้น พร้อมกับอาการปวดหัวตุ๊บๆ

บทสนทนาเกี่ยวกับ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" และ "แก้วเบียร์" ยังคงก้องอยู่ในหัว พวกเขาเริ่มตระหนักว่า หลักการนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดื่มเบียร์ แต่มันสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจบริโภคและการจัดสรรทรัพยากรในชีวิตประจำวันได้

"เมื่อวาน แก้วที่สี่ของผมมันไม่คุ้มค่าเลย ทั้งรสชาติ ความรู้สึก และเงินที่เสียไป" ขิงพูดขึ้น

"ถ้ารู้แบบนี้ สั่งแค่สามแก้วก็พอ" อิสระกล่าว

"จริง เหมือนกับตอนเราซื้อเสื้อผ้า รองเท้า หรือของสะสมต่างๆ ชิ้นแรกๆ มักจะให้ความสุข และความตื่นเต้น แต่พอมีมากขึ้น ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะลดลง สุดท้ายก็กลายเป็นของรกบ้าน" อาร์มเสริม

พวกเขาเริ่มวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง และพบว่าหลายครั้งที่พวกเขาตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยไม่ได้คำนึงถึง "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ปล่อยให้อารมณ์ ความอยาก และการตลาดชี้นำ ส่งผลให้สิ้นเปลืองเงิน และทรัพยากรไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น

"เราควรจะฉลาดกว่านี้ในการใช้เงิน" เจ้าหลามเสนอขึ้นมา

"ก่อนจะซื้ออะไร ลองถามตัวเองก่อนว่า เราต้องการมันจริงๆ ไหม มันจะช่วยเพิ่มความสุข หรือคุณภาพชีวิตของเราจริงหรือเปล่า และมันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปไหม" เทนโด้เสนอบ้าง

"ใช่.. และเราควรจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสัมพันธ์ มากกว่าวัตถุ" จิงโจ้เสริม

"การไปเที่ยว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้เวลากับคนที่เรารัก มักจะให้ความสุขที่ยั่งยืนกว่าการซื้อของ" หมอนิวกล่าวสมทบ

พวกเขาตกลงกันว่า จะนำหลักการ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ไปปรับใช้ในการตัดสินใจบริโภคและการจัดสรรทรัพยากร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความสุขที่ยั่งยืน

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สอนให้เราเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด รู้จักจัดลำดับความสำคัญและใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

## **จากภาพรวมสู่รายละเอียด**
ลองนึกภาพว่าเบียร์ทั้งขวดคือ "อรรถประโยชน์" (Utility) หรือความพึงพอใจทั้งหมดที่เราได้รับจากการดื่มเบียร์ขวดนั้น

ส่วน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" (Marginal utility) คือความพึงพอใจที่เราได้รับจากการดื่มเบียร์เพิ่มแต่ละแก้ว หรือแต่ละอึก

### แก้วแรก.. ความสุขเต็มเปี่ยม
อรรถประโยชน์รวมสูง เพราะเราเริ่มจากความสดชื่นเป็นศูนย์ และความผ่อนคลายที่ได้รับจากแก้วแรกสร้างความพึงพอใจเป็นอย่างมาก

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงสุด เพราะเป็นแก้วแรกที่ดับกระหายและคลายร้อน

### แก้วที่สอง.. ความสุขเพิ่มขึ้น
อรรถประโยชน์รวมเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มากเท่ากับแก้วแรก เพราะความสดชื่นชักเริ่มจะลดลง

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มลดลง แต่ยังคงเป็นบวก เพราะยังคงให้ความสุขและความผ่อนคลาย

### แก้วที่สาม.. ความสุขคงที่
อรรถประโยชน์รวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะคงที่ เพราะเริ่มรู้สึกเมาๆ ตึงๆ

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มใกล้ศูนย์ หรืออาจจะติดลบ เพราะความสุขจากการดื่ม (คนละเรื่องกับความสุขจากการสนทนาหรือบรรยากาศบนโต๊ะ) เริ่มน้อยลง และอาจรู้สึกอึดอัดจากความกระอักกระอ่วน

### แก้วที่สี่.. ความสุขลดลง
อรรถประโยชน์รวมเริ่มลดลง เพราะความรู้สึกไม่สบายจากการดื่มมากเกินไป ..เมาแล้วนั่นแหละ

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มติดลบ เพราะการดื่มต่อไม่ได้ให้ความสุข มีแต่จะทำให้แย่ลง เริ่มจะมวนท้อง

### แก้วที่ห้า.. ความทุกข์มาเยือน
อรรถประโยชน์รวมลดลงอย่างมาก เพราะความรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว และอาจจะเมาหนักข้อขึ้น

อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มติดลบอย่างมาก เพราะการดื่มต่อมีแต่จะสร้างความทุกข์ เริ่มอ้วกพุ่ง เริ่มเดินโซซัดโซเซ

สรุปว่า.. "อรรถประโยชน์" (Utility) คือ ภาพรวมของความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

ส่วน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" (Marginal utility) คือ ความสุขหรือความพึงพอใจที่ได้รับจากหน่วยเพิ่มเติมของสินค้าหรือบริการนั้น (เมื่อบริโภคสินค้านั้นเพิ่มขึ้น)

> โดยทั่วไป.. อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มจะลดลง เมื่อมีปริมาณการบริโภคเพิ่มมากขึ้น

การเข้าใจความแตกต่างระหว่าง "อรรถประโยชน์" และ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราตัดสินใจบริโภคได้อย่างชาญฉลาดและรู้จัก "พอ" ก่อนที่ความสุขจะกลายเป็นความทุกข์

## **เข็มทิศนำทางสู่การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด**
บทสนทนาของกลุ่ม Right Shift ยังคงดำเนินต่อไป.. พวกเขาเริ่มมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" กับหลักการทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค..

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราเข้าใจว่า ผู้คนจะเลือกบริโภคสินค้าและบริการ ตามลำดับความสำคัญของความต้องการและความจำเป็น สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย มักจะมีอรรถประโยชน์สูง ในขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ของแบรนด์เนม รถหรู จะมีอรรถประโยชน์ลดหลั่นลงมา

ทรัพยากรของเรามีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือพลังงาน "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยให้เราจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ให้ความพึงพอใจสูงสุด และลดการบริโภคสิ่งที่ให้ความพึงพอใจต่ำ

"อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ช่วยอธิบายว่า ทำไมผู้คนถึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา และปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อราคาสินค้าลดลง อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของมันจะเพิ่มขึ้น (น่าซื้อ มันไม่แพง) ทำให้ผู้คนต้องการบริโภคมากขึ้น หรือ เมื่อมีสินค้าทดแทนที่ให้ความพึงพอใจมากกว่า ผู้คนก็จะหันไปบริโภคสินค้าทดแทนนั้น

“อรรถประโยชน์ลดหลั่น” ซึ่งหลักการนี้เป็นหัวใจสำคัญของ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" มันอธิบายว่า ยิ่งเรามีสินค้าหรือบริการมากขึ้น ความพึงพอใจที่ได้รับจากหน่วยเพิ่มเติมเหล่านั้นก็มักจะลดลง

ดังนั้น.. เราควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน การลงทุนหรือแม้แต่การใช้ชีวิต
มันสอนให้เรารู้จัก "เลือก" "จำกัด" และ "พอ" เพื่อให้เกิดความสุขและความสมดุล ในทุกๆ ด้านของชีวิต

ก็เหมือนกับการดื่มเบียร์.. แก้วแรกอาจจะสดชื่น แต่แก้วที่ห้าอาจจะเริ่มทำให้ปวดหัว การบริโภคทุกอย่าง ล้วนมี "จุดพอดี" ที่ให้ความสุขสูงสุด และ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ก็คือเข็มทิศที่ช่วยนำทางเราไปสู่จุดนั้น


## **มองข้ามแก้วเบียร์ สู่ความหมายที่ลึกซึ้ง**
หลังจากถกเถียงกันอย่างออกรส.. กลุ่ม Right Shift ก็เริ่มตระหนักได้ว่า "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สามารถนำไปนิยามในบริบทอื่นๆ นอกเหนือจากการบริโภคสินค้าและบริการได้อีกมากมาย

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของเวลา
เวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีจำกัด การใช้เวลาแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง ล้วนมี "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม"

เช่น การใช้เวลา 1 ชั่วโมงแรกในการอ่านหนัง อาจจะให้ความรู้และความเพลิดเพลิน แต่การอ่านต่อเนื่องเป็นชั่วโมงที่ 5 อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้า ดังนั้น.. เราควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของความรู้
การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่การเรียนรู้มากเกินไป โดยไม่มีการนำไปใช้ หรือ การเรียนรู้แบบหว่านแห ไม่เจาะลึก อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์เท่าที่ควร

ดังนั้น.. เราควรเลือกเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นและสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เกิด "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" สูงสุด

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นสร้างความสุขและความมั่นคง ให้กับชีวิต แต่การใส่ใจและให้เวลากับคนทุกคน มากเกินไป อาจจะทำให้เราเหนื่อยล้าและละเลยความสัมพันธ์ที่สำคัญ

ดังนั้น.. เราควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีคุณค่า เพื่อให้เกิด "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ที่ยั่งยืน

### อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มของการพักผ่อน
การพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็น แต่การพักผ่อนมากเกินไป อาจจะทำให้เราขาดความกระตือรือร้นและเสียโอกาสหลายๆ อย่าง

ดังนั้น.. เราควรจัดสรรเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้รับการฟื้นฟู และพร้อมที่จะทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่

จะเห็นได้ว่ามันเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกแง่มุมของชีวิต มันช่วยให้เราเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมี "จุดพอดี" ที่ให้ประโยชน์สูงสุด และการรู้จัก "พอ" คือหนทางสู่ความสุข และความสำเร็จที่ยั่งยืน

## **คำแปลอื่นที่เป็นไปได้ของ "Marginal Utility" นอกเหนือจาก "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" **
บทสนทนาของกลุ่ม Right Shift เริ่มเข้มข้นขึ้น.. พวกเขาไม่เพียงแต่ถกเถียงถึงความหมายและการประยุกต์ใช้ "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" แต่ยังสนใจที่จะหาคำแปลภาษาไทยที่เหมาะสม และแสดงถึงความหมายได้อย่างครบถ้วน นอกเหนือจากคำว่า "อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" ที่อาจจะฟังดูแข็งและเป็นทางการจนเกินไป

"เราลองมาคิดคำแปลอื่นๆ ที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ และเข้าใจง่ายกว่านี้ไหม" ขิงเสนอ

"อืม... ลองดูสิ" จิงโจ้ส่งสัญญาณทุกคนเริ่มระดมความคิดและเสนอคำแปลต่างๆ

“ประโยชน์ส่วนเพิ่ม” คำนี้ตรงตัวและเข้าใจง่าย แต่ยังคงความเป็นทางการอยู่บ้าง

“ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม” เน้นที่ผลที่ได้รับ ซึ่งอาจจะเป็นความสุข ความพึงพอใจ หรือประโยชน์อื่นๆ

“ความคุ้มค่าส่วนเพิ่ม” เน้นที่การเปรียบเทียบระหว่างผลที่ได้รับกับต้นทุน หรือทรัพยากรที่เสียไป

“ความสุขส่วนเพิ่ม” เน้นที่ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้รับจากการบริโภค

“ผลลัพธ์ส่วนเพิ่ม” เป็นคำกลางๆ ที่สามารถใช้ได้ในหลายบริบท

“กำไรส่วนเพิ่ม” ใช้ในบริบททางธุรกิจ เน้นที่ผลกำไรที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือบริการ

“ผลที่เพิ่มขึ้น” เน้นที่การเปลี่ยนแปลง หรือการเพิ่มขึ้นของผลลัพธ์

“ความพอใจส่วนเพิ่ม” เน้นที่ความรู้สึกพึงพอใจ ที่ได้รับจากการบริโภค

“การเลือกใช้คำแปลจึงขึ้นอยู่กับบริบทและความเหมาะสม บางครั้งเราอาจจะต้องใช้คำอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟัง เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง” จิงโจ้ให้คำแนะนำทิ้งท้ายกับน้องๆ

“อ้าว.. แล้ว ‘ความเมาส่วนเพิ่ม’ ล่ะพี่.. ใช้กับอะไรดี?” อิสระเอ่ยถามขึ้นมาอย่างกวนๆ

ก่อนที่ซุปจะตัดบทขึ้นมาว่า..

“เอาบิตคอยน์ไปซื้อเบียร์ดีเจต้ากันเถอะป่ะ..”

#jakkstr #siamstr #AustrianEconomy #MarginalUtility
Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85