Why Nostr? What is Njump?
2024-03-29 01:50:11

Hipknox on Nostr: ## หน่วยวัด ...

## หน่วยวัด

ไม่มีใครที่ซื้อผ้าไหมยาว 1 เมตร ด้วยการที่เขามีหน่วยวัด 1,000 เซนติเมตร

ไม่มีใครที่ซื้อเนื้อวัวน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ด้วยการที่เขามีหน่วยวัด 1,000 กรัม

ไม่มีใครที่ซื้อเวลาของคนอื่น 24 ชั่วโมง ด้วยการที่เขามีหน่วยวัด 86,400 วินาที

เราไม่ได้ทำการแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันด้วยจำนวนของหน่วยวัด แต่หน่วยวัดที่เราเรียกว่าเงินสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบอกปริมาณของมูลค่าที่เป็นเพียงความรู้สึกของมนุษย์

มีเพียงแค่ “เงิน“ เท่านั้น ที่เป็นหน่วยวัดสำหรับใช้ในการวัด ”มูลค่า“ และมีคุณสมบัติในการกักเก็บมูลค่าในตัวของมันเอง ที่พวกเราจะสามารถใช้เพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันได้

ในหน่วยวัดมาตรฐานชนิดอื่น ๆ เช่น เมตร กิโลกรัม วินาที แอมแปร์ เคลวิน แคนเดลา และโมล พวกเราประดิษฐ์หน่วยวัดเหล่านี้ขึ้นเพื่อการใช้วัดปริมาณในสิ่งที่เป็นรูปธรรม ความยาว น้ำหนัก กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ ความเข้มของการส่องสว่าง ปริมาณสาร หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้อย่างเวลา พวกเราก็ประดิษฐ์เครื่องมืออย่างนาฬิกาขึ้นมาเพื่อให้เวลากลายเป็นสิ่งที่จับต้องและสามารถวัดปริมาณได้

ต่างกันกับ ”มูลค่า“ ที่ตัวของมันไม่ได้มีอยู่จริง มูลค่าสำหรับผู้คนที่มีให้กับสิ่ง ๆ หนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกจากภายในที่มีไม่เท่ากัน มูลค่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีสินค้าเกิดการแลกเปลี่ยน หมู 1 ตัว อาจจะเท่ากับข้าวสาลี 5 กระสอบสำหรับคนหนึ่ง แต่กับอีกคนมันอาจจะมีค่าเพียงแค่ข้าวสาลี 3 กระสอบ

แม้แต่ตัวของมนุษย์เองก็มีความสามารถที่จะกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ชายคนหนึ่งอาจขายแรงงานให้กับเจ้าของที่ดินด้วยการทำนาข้าวสาลี 100 ไร่ เพื่อแลกกับบ้านและที่ดินจำนวนหนึ่งจากเจ้าของที่ดิน ปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่ออารมณ์ความรู้สึกมีผลกับมูลค่า เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง เจ้าของที่ดินอาจบิดพริ้วคำสัญญากับชายคนนั้นเมื่อผลผลิตจากนาข้าวสาลี 100 ไร่ ไม่เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวัง

เงินที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่าจึงกลายมาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาจากความลำเอียงที่มีต่อมูลค่าของสินค้า จากอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่ทำการแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกัน

### หน่วยวัดมาตรฐาน

เราเคยกำหนดให้ 1 กิโลกรัม มาจากน้ำหนักของวัสดุมาตรฐานอ้างอิงอย่าง Big K ที่สร้างจากแพลตตินั่ม-อิริเดียมอัลลอย ก่อนที่เราจะพบว่าค่ามาตรฐานจากวัสดุอ้างอิงนั้นมีการเลื่อนค่าอยู่เสมอไม่ว่าจะเก็บรักษาไว้ในสภาวะแวดล้อมจำกัดที่ดีมากแค่ไหนก็ตาม เราจึงเปลี่ยนจากการยึดค่ามาตรฐานจากการอ้างอิงค่าของวัสดุมาเป็นสมการทางฟิสิกส์ในการกำหนดนิยามของกิโลกรัมใหม่ เป็นค่าคงตัวของพลังค์ที่ 6.62607015x10^-34 ค่าคงที่ที่ไม่ว่าจะนำไปใช้ที่ใดในโลก 1 กิโลกรัมก็จะเท่ากันเสมอ

เราเคยกำหนดให้ความยาวของตุ้มนาฬิกาที่แกว่งภายในเวลา 1 วินาที ให้มีค่าเท่ากับความยาว 1 เมตร ก่อนที่เราจะพบว่าค่ามาตรฐานจากการแกว่งของตุ้มนาฬิกาของแต่ละพื้นที่ในโลกนั้นไม่เท่ากันเนื่องจากค่าของแรงโน้มถ่วงของแต่ละพื้นที่มีค่าไม่เท่ากัน เราจึงพยายามหาค่าที่จะเป็นค่ามาตรฐานในการใช้เป็นหน่วยวัดความยาว จนกระทั้งในปัจจุบันเราใช้ค่าของความเร็วที่แสงเดินทางในสุญญากาศ 299,792,458 เมตรต่อวินาที มากำหนดเป็นนิยามของ 1 เมตร เพื่อให้เรามีตัวเลขที่จะใช้เป็นค่ามาตรฐานในการวัดความยาวได้อย่างเท่ากันทั้งโลก

แม้แต่สิ่งที่อยู่กับพวกเรามาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายที่เราไม่สามารถจับต้องมันได้ราวกับว่ามันเป็นเพียงแค่นามธรรมอย่าง “เวลา” พวกเราก็ยังประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่านาฬิกาเพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำให้เวลากลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในชีวิตของเรา ใช้เพื่อบอกโมงยาม ใช้เพื่อการนัดหมาย เพื่อให้ชีวิตของการอยู่ร่วมกันในสังคมราบรื่น เราประดิษฐ์นาฬิกาแดดที่ใช้แสงจากดวงอาทิตย์เพื่อกำหนดเวลาของเที่ยงวันเมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นผิวโลก ก่อนที่เราจะพบกับปัญหาว่าดวงอาทิตย์นั้นตั้งฉากกับแต่ละพื้นที่ของโลกไม่พร้อมกัน และเพื่อให้พวกเราได้มีมาตรฐานของเวลาที่เท่ากัน ในปัจจุบันเราได้ใช้การกำหนดนิยามของวินาที จากความถี่ของการเปลี่ยนระดับพลังงานไฮเปอร์ไฟน์ของสถานะพื้นที่ ๆ ไม่ถูกรบกวนของอะตอมซีเซียม 133 ที่มีค่าเท่ากับ 9,192,631,770 ในหน่วย s-1 หรือ Hz

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น มนุษย์อย่างพวกเรามีความปรารถนาดีที่จะมีสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานในการวัดค่า เพื่อที่จะให้มนุษยชาติสามารถที่จะรังสรรค์สิ่งประดิษฐ์และสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ จากการมี “ค่ามาตรฐานในการวัดสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องและมีความคงที่” การสร้างบ้านเรือนอาคารที่ต้องอาศัยการออกแบบ การคำนวณ และการวัดค่าอย่างมีมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย การปล่อยกระสวยอวกาศเพื่อการส่งดาวเทียมที่หากมีการคำนวณเวลาที่ผิดพลาดแม้แต่เสี้ยววินาทีก็อาจจะทำลายโครงการที่มีการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลได้อย่างง่ายดาย

ลองนึกภาพดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากหน่วยวัดบนไม้บรรทัดความยาว 30 เซนติเมตรในวันนี้ วันพรุ่งนี้หน่วยวัดของมันจะถูกสเกลเพิ่มขึ้นเป็น 60 เซนติเมตรบนไม้บรรทัดแท่งเดิม หรือ ตราชั่งน้ำหนักพิกัด 20 กิโลกรัมในวันนี้ วันพรุ่งนี้หน่วยวัดของมันจะถูกสเกลเพิ่มขึ้นเป็น 40 กิโลกรัมบนตราชั่งเครื่องเดิม

ผ้าไหมความยาว 30 เซนติเมตร ที่มีขายในวันนี้ พรุ่งนี้มันจะเหลือความยาวเพียง 15 เซนติเมตร จากหน่วยวัดบนไม้บรรทัดที่ถูกสเกลเพิ่มจนบิดเบี้ยว เนื้อวัวน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ที่ขายกันในวันนี้ วันพรุ่งนี้มันจะลดเหลือเพียง 10 กิโลกรัม จากหน่วยวัดบนตราชั่งที่ถูกสเกลเพิ่มจนบิดเบี้ยว

พวกเราจึงไม่อาจยินยอมให้หน่วยวัดมาตรฐานมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงและไร้ซึ่งความคงที่ได้จากความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง

### เงิน หน่วยวัดที่ไม่มีค่าคงที่

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะนำพาโลกมาได้ไกลอย่างในปัจจุบัน เงินที่มีวิวัฒนาการจาก เปลือกหอย ลูกปัด หินไร แร่เงิน ทองคำ เหรียญกษาปณ์ ตั๋วแลกทองคำ ธนบัตร มาจนถึงตัวเลขดิจิตอลทางบัญชีที่เราใช้ในการรับส่งเงินตราระหว่างกันและกันได้ไกลสุดขอบโลก ความแตกต่างหนึ่งของการเป็นหน่วยวัดที่ดีคือหน่วยวัดชนิดอื่น ๆ มีการพัฒนาเทคโนโนโลยีเพื่อการค้นหาความจริงของค่าคงที่ที่จะมีความถูกต้องแม่นยำที่สุดเมื่อนำมาใช้ในการวัดค่า แต่เงินตรากลับเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าคงที่และสามารถถูกเพิ่มหรือลดจำนวนของหน่วยในการใช้วัดมูลค่าได้ตลอดเวลา

สำหรับเงินตราที่เป็นมาตรฐานของโลกอย่าง US Dollar แล้ว หน่วยวัดมูลค่าของมันถูกสเกลเพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 1959 ที่จำนวนหน่วยของมันจากที่เคยอยู่ที่ $286.6 Billion (M2) ถูกสเกลเพิ่มขึ้นมาเป็น $20.8K Billion (M2) ในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาถึง 7,273% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 69 ปี

ถ้าจะให้เทียบกับ 1 เมตร ที่จะมีค่าเท่ากันกับ 1 เมตร อยู่เสมอ เมื่อ 1 เมตร นั้นจะมีค่าเท่ากับ 299,792,485 เมตรต่อวินาที ในทุก ๆ ที่ แต่กลับกันในหน่วยของเงิน เงิน $1 ในปี 2024 จะมีค่าไม่เท่ากับเงิน $1 ของปี 1959 มูลค่าของมันที่ถูกกักเก็บเอาไว้ถูกทำให้เสื่อมค่าลงจากปริมาณของเงินที่ถูกผลิตเพิ่มเข้ามาในระบบ

เราสามารถรู้สึกได้ถึงความผิดปกติของหน่วยวัดมูลค่านี้ เมื่อเรานำมันไปเทียบกับสินค้าหรือบริการอื่น ๆ เราจะพบว่าเรามักจะต้องเพิ่มหน่วยของเงินสำหรับการใช้เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเดิมที่เราเคยซื้อ โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องรอการสรุปตัวเลขดัชนีผู้บริโภครายปีที่จะถูกประกาศโดยรัฐเลยด้วยซ้ำ

ในปี 2008 การเกิดวิกฤติทางการเงินที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกนั้นปั่นป่วน มีคนหรือกลุ่มคนที่พยายามจะสร้างหน่วยวัดมูลค่าชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่หน่วยวัดมูลค่ารูปแบบเก่าอย่าง US Dollar ชื่อของมันคือ Bitcoin เงินดิจิตอลไร้ตัวกลางในการควบคุม ถูกนิยามให้มีหน่วยวัดมูลค่าที่มีความคงที่ที่ 21 ล้านหน่วย (BTC) ซึ่งเป็นสามัญสำนึกแบบเดียวกันกับการที่เราใช้ในการประดิษฐ์หน่วยวัดชนิดอื่น ๆ เงินก็ควรจะมีค่าคงที่ที่ค่าใดค่าหนึ่ง ที่จะไม่มีใครสามารถแก้ไขและเปลี่ยนแปลงมันได้ในภายหลัง เพื่อให้ 1 BTC จะมีค่าเท่ากับ 1 BTC อยู่เสมอ ไม่ว่ามันจะอยู่ในที่ ๆ ใด หรือแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานมากแค่ไหนก็ตาม

บอกผมหน่อยสิว่า ในเวลานี้หน่วยวัดใดกันที่ไม่มีความเข้าพวกกับหน่วยวัดชนิดอื่น ๆ และทำไมเราจึงยังคงใช้หน่วยวัดหน่วยนี้ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้มีความยุติธรรมต่อมูลค่าที่เราได้ให้ค่าต่อสิ่ง ๆ หนึ่งเลยแม้แต่น้อย

มูลค่า เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจที่ใครจะให้ค่าต่อสิ่ง ๆ ได้ว่าจะมีมูลค่ามากหรือน้อยแค่ไหน จะดีมากแค่ไหนหากว่าเราจะมีเครื่องมือที่ใช้บอกมูลค่านั้นได้อย่างเที่ยงธรรม ในเมื่อเรากำลังมีเงินที่หน่วยวัดของมันมีค่าคงที่ ทำไมเราจึงจะไม่พลักดันให้เงินสกุลใหม่นี้ บิตคอยน์ ให้มันกลายมาเป็นหน่วยวัดมูลค่ามาตรฐานที่พวกเราจะใช้มันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก

#Siamstr #SiamstrOG
Author Public Key
npub1p0glyrz85nu86gevlhrsg9t3pg5uhrhq3sgwjmy8mzq0k09m30pq2jv9kv