Why Nostr? What is Njump?
2023-09-17 06:31:10

RightShiftCuration on Nostr: กรณีศึกษาการสิ้นชาติ ...

กรณีศึกษาการสิ้นชาติ เมื่อเผด็จการและรัฐบาลทรราชคือลูกค้าคนโปรดของ IMF และธนาคารโลก #FuckIMF 🔥 #Siamstr 🇹🇭

6. ร่วมเล่นกับเหล่าเผด็จการ

“เขาอาจจะเป็นไอ้ชาติชั่ว แต่เขาก็เป็นไอ้ชาติชั่วของเราเอง”

–Franklin Delano Roosevelt


หมายเหตุผู้แปล : แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) หรือ เอฟดีอาร์ (FDR) เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 32 โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1933-1945

ก็จริงอยู่ที่การกู้เงินจากธนาคารโลกหรือกองทุน IMF จะสำเร็จได้นั้น จะต้องมีการเห็นพ้องกันทั้งฝั่งผู้ให้กู้และฝั่งผู้กู้ ปัญหาคือโดยปกติแล้วผู้ที่มากู้มักจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำใด ๆ และเป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจได้โดยที่ไม่ต้องปรึกษาหารือกับใคร และไม่ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนของตัวเอง

อย่างที่คุณ Payer ได้เขียนในหนังสือ “กับดักหนี้ (The Debt Trap)” ว่า “โครงการของ IMF นั้นมักไม่เป็นที่นิยมทางการเมือง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ คือมันจะทำร้ายธุรกิจท้องถิ่นและกดรายได้ที่แท้จริงของเหล่าผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ต่ำลง รัฐบาลไหนก็ตามที่พยายามทำตามเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือแสดงเจตจํานงต่อ IMF น่าจะต้องถูกโหวตให้ออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน”

image

ฉะนั้นแล้ว IMF จึงอยากจะทำงานร่วมกับลูกหนี้จากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้นำสามารถปลดผู้พิพากษาที่เป็นตัวปัญหาหรือปราบปรามผู้ประท้วงได้อย่างง่ายดาย โดยจากที่คุณ Payer ได้ระบุไว้ว่าทั้งการรัฐประหารในประเทศบราซิล ปี 1964, ในประเทศตุรกี ปี 1960, ในประเทศอินโดนีเซีย ปี 1966, ในประเทศอาร์เจนติน่า ปี 1966 และในประเทศฟิลิปปินส์ ปี 1972 ต่างก็ถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ผู้นำซึ่งต่อต้าน IMF นั้นถูกขับออกจากตำแหน่งโดยการใช้กำลัง และถูกแทนที่ด้วยผู้นำที่เป็นมิตรต่อ IMF

ถึงแม้ว่าทางกองทุน IMF จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโดยตรง แต่ในเหตุการณ์รัฐประหารแต่ละครั้งนั้น พอผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่อาทิตย์ หรือไม่กี่เดือน IMF ก็จะรีบเข้าหาประเทศเหล่านี้อย่างกระตือรือร้น เพื่อช่วยให้ระบอบการปกครองใหม่เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างแบบที่ IMF ต้องการ

ทั้งธนาคารโลกและกองทุน IMF แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเต็มใจที่จะสนับสนุนรัฐบาลทรราช โดยเราอาจจะแปลกใจสักหน่อย เมื่อรู้ว่าเป็นธนาคารโลกนี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มแนวทางนี้ โดยจากข้อมูลที่นักวิจัยด้านการพัฒนาอย่างคุณ Kevin Danaher ได้ระบุไว้ “ประวัติอันน่าเศร้าเกี่ยวกับการสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารและรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผยของธนาคารโลกเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1947 โดยการปล่อยเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูแก่ประเทศเนเธอร์แลนด์มูลค่า 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยที่ 17 วันก่อนหน้านั้น ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เปิดฉากทำสงครามกับกลุ่มชาตินิยมที่ต่อต้านการล่าอาณานิคม ณ ดินแดนอาณานิคมขนาดใหญ่แถบโพ้นทะเลในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งต่อมาได้ประกาศเอกราชเป็นสาธารณรัฐอินโดนีเซีย”

image

“พวกดัตช์นั้น” คุณ Danaher เขียนต่อว่า “ส่งทหารไปกว่า 145,000 นาย (จากชาติที่มีผู้อยู่อาศัยเพียง 10 ล้านคน ณ เวลานั้น ทั้งยังอยู่ในช่วงของการดิ้นรนด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตให้กลับมาอยู่ในระดับร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปี 1939) และปล่อยมาตรการสกัดกั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบในดินแดนที่ฝ่ายชาตินิยมยึดครอง

ผลคือการสร้างความอดอยากและปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนในอินโดนีเซียกว่า 70 ล้านคน”

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษแรก ธนาคารโลกได้ปล่อยกู้ให้กลุ่มประเทศใต้อาณานิคมหลายโครงการ รวมถึงการปล่อยเงินกู้จำนวน 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1952 ให้แก่โรดีเซีย ประเทศที่มีการใช้นโยบายแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิว และยังปล่อยเงินกู้ให้แก่ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และเบลเยียม เพื่อใช้เป็นงบในการ “พัฒนา” เหล่าอาณานิคมใต้การปกครองอย่างปาปัวนิวกินี เคนยา และเบลเจียนคองโก

ในปี 1966 ธนาคารโลกยังได้ทำการท้าทายต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) แบบตรง ๆ โดยดึงดันที่จะ “ปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศแอฟริกาใต้และประเทศโปรตุเกสต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีมติจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติทั้งหมดยุติการให้การสนับสนุนทางการเงินต่อทั้งสองประเทศแล้วก็ตาม” คุณ Danaher กล่าว

image

คุณ Danaher ยังเขียนไว้อีกว่า “การยึดครองอาณานิคมในแองโกลาและโมซัมบิกของโปรตุเกส รวมถึงนโยบายแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิวของแอฟริกาใต้นั้นถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) อย่างโจ่งแจ้ง แต่ธนาคารโลกโต้แย้งว่าในกฎบัตรหมวดที่ 4 มาตราที่ 10 ได้ระบุถึงการห้ามแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศสมาชิก จึงถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ธนาคารโลกจำเป็นต้องปฏิเสธการลงมติของสหประชาชาติ ยังผลให้ธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่โปรตุเกส และอีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่แอฟริกาใต้ หลังจากมีการลงมติของสหประชาชาติ”

ความชื่นชอบที่มีต่อผู้นำเผด็จการของทางธนาคารโลกนั้น บางครั้งก็แสดงออกให้เห็นแบบทนโท่ เช่น การที่ธนาคารโลกตัดเงินให้กู้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนายซัลบาดอร์ อาเยนเดในประเทศชิลีช่วงต้นยุค 1970 แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็ปล่อยเงินกู้ขนาดใหญ่แก่รัฐบาลของเชาเชสกูในโรมาเนีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรัฐตำรวจที่เลวร้ายที่สุดในโลก

นี่เป็นอีกตัวอย่างว่าธนาคารโลกและกองทุน IMF ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ นั่นคือพวกเขาไม่ได้ปล่อยเงินกู้ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ยึดถือกันในช่วงสงครามเย็น เมื่อมีลูกค้าฝ่ายขวา เช่น ออกุสโต ปิโนเช่ อูการ์เต หรือฆอร์เฆ ราฟาเอล บิเดลาแล้วก็จะมีลูกค้าฝ่ายซ้ายอย่างยอซีป บรอซ ตีโต และจูเลียส ไนเรอร์เช่นเดียวกัน


หมายเหตุผู้แปล : - ซัลบาดอร์ กิเยร์โม อาเยนเด โกเซนส์ (Salvador Guillermo Allende Gossens) เป็นประธานาธิบดีของประเทศชิลีในช่วงปี 1970-1973 โดยเป็นผู้นำที่เป็นมาร์กซิสต์คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบเสรีประชาธิปไตย และในปี 1973 กองทัพชิลีที่นำโดยนายพลออกุสโต ปิโนเช่ อูการ์เต ได้ทำการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของนายอาเยนเด - นิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu) เป็นผู้นำในระบอบคอมมิวนิสต์คนที่ 2 ของประเทศโรมาเนีย โดยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1974-1989 - ออกุสโต ปิโนเช่ อูการ์เต (Augusto Pinochet Ugarte) เป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารของประเทศชิลีระหว่างปี 1973-1990 - ฆอร์เฆ ราฟาเอล บิเดลา (Jorge Rafael Videla) เป็นผู้นำเผด็จการชาวอาร์เจนตินาระหว่างปี 1976-1981 - ยอซีป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito) เป็นผู้นำเผด็จการฝ่ายซ้ายของประเทศยูโกสลาเวียระหว่างปี 1953–1980

- จูเลียส ไนเรอร์ (Julius Nyerere) เป็นผู้นำฝ่ายซ้ายของประเทศแทนซาเนีย ปกครองในช่วงระหว่างปี 1964-1985

คุณ Danaher ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในปี 1979 เหล่ารัฐบาลซึ่งกดขี่ประชาชนมากที่สุดในโลกกว่า 15 ประเทศได้รับเงินกู้ถึง 1 ใน 3 ของเงินที่ธนาคารโลกปล่อยกู้ทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นตัวเลขหลังจากที่รัฐสภาสหรัฐฯ และคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีคาเตอร์ได้หยุดให้เงินช่วยเหลือ 4 ประเทศจากใน 15 ประเทศนี้แล้วด้วย ได้แก่ อาเจนตินา ชิลี อุรุกวัย และเอธิโอเปีย โดยเหตุผลคือ “การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง”

แต่ทว่าไม่กี่ปีหลังจากนั้นกองทุน IMF ก็ปล่อยเงินกู้อีก 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ฝ่ายเผด็จการทหารในประเทศเอลซัลวาดอร์เพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่มีการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างหมู่บ้านใน El Mozote ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น


หมายเหตุผู้แปล : เจมส์ เอิร์ล คาร์เตอร์ จูเนียร์ (James Earl Carter Jr.) หรือที่รู้จักในนาม "จิมมี คาร์เตอร์" (Jimmy Carter) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 39 โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1977–1981

มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับธนาคารโลกและกองทุน IMF ในปี 1994 ที่มีเนื้อหาเล่าย้อนกลับไปในช่วง 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นปีแห่งการก่อตั้งสถาบันเบรตตันวูดส์ อย่างหนังสือ “Perpetuating Poverty” โดยคุณ Ian Vàsquez และคุณ Doug Bandow ถือเป็นหนึ่งในการศึกษาครั้งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเป็นการวิเคราะห์ในมุมมองของอิสรนิยม เนื่องจากการศึกษาวิจัยสำคัญ ๆ เกี่ยวกับธนาคารโลกและกองทุน IMF ส่วนใหญ่มักจะมาจากฝ่ายซ้าย แต่คุณ Vásquez และคุณ Bandow จากสถาบัน Cato ก็เห็นปัญหาหลายอย่างที่เหมือนกัน

image

“กองทุน IMF ปล่อยกู้ให้ทุกรัฐบาล” พวกเขาเขียน “ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะโหดเหี้ยมหรือเลวทรามขนาดไหน… ประเทศจีนเองก็ติดหนี้ IMF อยู่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 1989 แล้วในเดือนมกราคม ปี 1990 เพียงไม่กี่เดือนหลังจากคราบเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเพิ่งจะแห้งเหือดไป IMF ก็ได้มาจัดสัมมนาเกี่ยวกับนโยบายการเงินในเมืองนี้”

คุณ Vásquez และ Bandow ยังพูดถึงลูกค้าเผด็จการรายอื่น ๆ ไล่ตั้งแต่กองทัพพม่าไปจนถึงชิลีภายใต้ผู้นำปิโนเช่, ลาว, นิคารากัวในช่วงของอนาสตาซิโอ โซโมซ่า เดเบย์เล่ และยังรวมไปถึงกลุ่มซานดินิสตา ซีเรีย และเวียดนาม


หมายเหตุผู้แปล : - อนาสตาซิโอ โซโมซ่า เดเบย์เล่ (Anastasio Somoza Debayle) เป็นผู้นำของประเทศนิคารากัวตั้งแต่ปี 1967 จนกระทั่งถูกโค่นล้มโดยพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา (FSLN) ในปี 1979

- กลุ่มซานดินิสตา (Sandinistas) หมายถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกของพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา (ในภาษาสเปน : Frente Sandinista de Liberación Nacional: FSLN, ในภาษาอังกฤษ: Sandinista National Liberation Front) ซึ่งเป็นพรรคการการเมืองแนวสังคมนิยมของประเทศนิคารากัว

“กองทุน IMF นั้น” พวกเขากล่าว “แทบจะไม่เคยเจอผู้นำเผด็จการที่พวกเขาไม่ชอบ”

คุณ Vásquez และ Bandow ลงรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของธนาคารกับระบอบปกครองมาร์กซิสต์-เลนินของเมินกึสทู ฮัยเลอ มารียัม ในเอธิโอเปีย ประเทศซึ่งธนาคารโลกสนับสนุนเงินมากกว่าร้อยละ 16 ของงบประมาณประจำปีของรัฐบาล ซึ่งนี่คือหนึ่งในรัฐบาลที่มีประวัติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดของโลก การปล่อยเครดิตเงินกู้ของธนาคารโลกนั้นมาในช่วงเวลาเดียวกับที่กองกำลังของเมินกึสทูกำลังเดินหน้า “กวาดต้อนผู้คนเข้าค่ายกักกันและพื้นที่นารวม”

และพวกเขาก็ได้ชี้ให้เห็นอีกว่าธนาคารโลกได้ให้เงินกับซูดาน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลกำลังขับไล่ผู้ลี้ภัยกว่า 750,000 คนออกจากเมืองคาทูมไปยังทะเลทรายอันแห้งแล้ง และธนาคารโลกยังได้ให้เงินนับล้านดอลลาร์แก่อิหร่าน ประเทศเผด็จการเทวนิยมที่โหดเหี้ยม และโมซัมบิคที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศนั้นฉาวโฉ่ในเรื่องของการทรมาน ข่มขืน และการการฆ่าตัดตอนผู้ต่อต้านรัฐ


หมายเหตุผู้แปล : - เมินกึสทู ฮัยเลอ มารียัม (Mengistu Haile Mariam) เป็นผู้นำของประเทศเอธิโอเปียโดยดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1977–1991

- ระบอบเทวนิยมหรือเทวาธิปไตย (Theocracy) คือระบอบการปกครองที่รัฐปกครองโดยอ้างอำนาจจากเทพหรือพระเจ้า

ในหนังสือปี 2011 เรื่อง “Defeating Dictators” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาชื่อดังชาวกานาอย่างคุณ George Ayittey ได้ออกมาแฉรายชื่อที่ยาวเป็นหางว่าวของเหล่าบรรดา “ผู้นำเผด็จการที่ได้รับเงินช่วยเหลือ” เช่น ปอล บียา, อีดริส เดบี, ล็องซานา คอนเต, พอล คากาเม, โยเวรี มูเซเวนี, ฮุนเซน, อิสลาม คารีมอฟ, นูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ และเอมอมาลี ราห์มอน

เขาได้ชี้ให้เห็นว่านับแค่เม็ดเงินที่กองทุน IMF ปล่อยให้กับเหล่าผู้นำเผด็จการ 9 คนนี้ก็รวมกันมีมูลค่ากว่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว


หมายเหตุผู้แปล : - ปอล บียา (Paul Biya) เป็นประธานาธิบดีของประเทศแคเมอรูน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1982 - อีดริส เดบี (Idriss Déby) เป็นประธานาธิบดีของประเทศชาด โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1990–2021 - ล็องซานา คอนเต (Lansana Conté) เป็นประธานาธิบดีของประเทศกินี โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1984–2008 - พอล คากาเม (Paul Kagame) เป็นประธานาธิบดีของประเทศรวันดา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2000 - โยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) เป็นประธานาธิบดีของประเทศยูกันดา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1986 - ฮุนเซน (Hun Sen) เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1998 - อิสลาม คารีมอฟ (Islam Karimov) เป็นประธานาธิบดีของประเทศอุซเบกิสถาน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1991–2016 - นูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ (Nursultan Nazarbayev) เป็นประธานาธิบดีของประเทศคาซัคสถาน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1990–2019

- เอมอมาลี ราห์มอน (Emomali Rahmon) เป็นประธานาธิบดีของประเทศทาจิกิสถานตั้งแต่ปี 1994

image

ในปี 2014 เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ปล่อยรายงานกล่าวหารัฐบาลเอธิโอเปียว่าใช้เงินบางส่วนจากเงินกู้มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับจากธนาคารโลกไปกับการบังคับย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมืองชาว Anuak จำนวน 37,883 ครอบครัว ซึ่งถือเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด Gambella โดยเหล่ากองทหารมีการ “ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และฆ่า” ชาว Anuak ที่ปฏิเสธการย้ายออกจากบ้านของพวกเขาเองความโหดร้ายที่เกิดขึ้นรุนแรงมากจนถึงขั้นที่ประเทศซูดานใต้ต้องยอมให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาว Anuak ที่หลั่งไหลเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเอธิโอเปีย

มีรายงานจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ระบุว่าดินแดนที่ถูกปล้นเหล่านี้ “ได้ถูกรัฐบาลนำไปปล่อยเช่าให้กับกลุ่มนักลงทุน” และเงินของธนาคารโลกนั้น “ได้ถูกนำไปใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ช่วยปฏิบัติการไล่ที่ในครั้งนี้”

มิหนำซ้ำทางธนาคารโลกยังอนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่สำหรับโครงการ “สร้างหมู่บ้านใหม่ให้ผู้ถูกไล่ที่จากเหตุการณ์ครั้งนี้” ถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนจำนวนมากปรากฏขึ้นมาก็ตาม

image

โมบูตู เซเซ โซโกและริชาร์ด นิกสัน ที่ทำเนียบขาวในปี 1973

หมายเหตุผู้แปล : - โมบูตู เซเซ โซโก (Mobutu Sese Soko) เป็นเผด็จการทหารและประธานาธิบดีของสาธารณรัฐซาอีร์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ตั้งแต่ปี 1965-1997

- ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1969-1974

คงจะถือเป็นความผิดพลาดถ้าเราไม่กล่าวถึงประเทศซาอีร์ภายใต้ผู้นำ โมบูตู เซเซ โซโก ผู้ซึ่งได้รับเงินกู้จากธนาคารโลกและกองทุน IMF นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐในสมัยการปกครองสุดนองเลือดกว่า 32 ปีของเขา

โดยโมบูตูยักยอกเงินไปกว่าร้อยละ 30 ของความช่วยเหลือที่เข้ามา และปล่อยให้ผู้คนของเขาอดตาย เขาทำตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างของ IMF กว่า 11 ครั้ง โดยในการปรับโครงสร้างครั้งหนึ่งในปี 1984 ครูในโรงเรียนรัฐบาลกว่า 46,000 คนต้องถูกไล่ออก และเงินสกุลประจำชาติถูกลดค่าไปกว่าร้อยละ 80

โมบูตูเรียกมาตรการลดค่าใช้จ่ายนี้ว่า “ยาขมที่พวกเราทุกคนจำเป็นต้องกิน” แต่ตัวเขาเองกลับไม่ขายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์กว่า 51 คันที่มี หรือคฤหาสน์กว่า 11 แห่งในเบลเยียมและฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งเครื่องบินโบอิ้ง 747 และปราสาทยุคศตวรรษที่ 16 ในสเปนของเขาก็ไม่ถูกขายออกไปแม้แต่อย่างเดียว

image

รายได้ต่อหัวของประชากรภายใต้การปกครองของเขาลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ต่อปี ทำให้ประชาชนกว่าร้อยละ 80 อยู่ในสถานะยากจนที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ เด็กส่วนใหญ่ตายก่อนอายุ 5 ขวบ และภาวะท้องมานจากการขาดสารอาหารก็ระบาดไปทั่ว

มีการประมาณการว่าโมบูตูได้ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นตัวการหลักในการผ่องถ่ายเงินออกไปนอกประเทศอีกกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินนี้เมื่อรวมยอดเข้าด้วยกันแล้วนับว่ามีมูลค่ามากเกินพอที่จะใช้หนี้ของประเทศได้ทั้งหมด หนี้ซึ่งสุดท้ายมีมูลค่าเพียง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่เขาได้ถูกขับออกจากอำนาจ โดยเขาได้ปล้นเงินจากผู้คนและคุกคามประชาชนของชาติ

โมบูตูจะทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ธนาคารโลกและ IMF คอยให้เงินกู้ช่วยเหลือ ถึงแม้มันจะชัดเจนว่าเขาไม่มีทางที่จะจ่ายหนี้เหล่านั้นคืนได้


หมายเหตุผู้แปล : ท้องมาน คือ ภาวะที่มีการสะสมของเหลวมากผิดปกติในบริเวณเยื่อหุ้มช่องท้อง และอวัยวะภายในช่องท้อง ส่งผลให้ท้องขยายใหญ่ขึ้นจนคล้ายผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยหนึ่งในสาเหตุหลักคือการขาดสารอาหาร

ถึงอย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผู้ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการแสดงว่า ธนาคารโลกและ IMF ชื่นชอบในผู้นำเผด็จการขนาดไหน คงหนีไม่พ้นชายที่ชื่อ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

โดยในปี 1966 เมื่อวันที่มาร์กอสก้าวขึ้นมามีอำนาจ สถานะของประเทศฟิลิปปินส์คือประเทศที่เจริญรุ่งเรืองอันดับ 2 ของเอเชีย และมีหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ช่วงระยะเวลาเพียง 20 ปี จนถึงวันที่มาร์กอสหมดอำนาจในปี 1986 นั้น หนี้สินของประเทศได้ขึ้นไปอยู่ที่ 28,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างที่คุณ Graham Hancock เขียนในหนังสือ “Lords Of Poverty” ว่าเงินกู้เหล่านี้ส่วนมาก “จะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับแผนการพัฒนาที่สูญเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นโครงการที่คนยากจนไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่โครงการทั้งหมดทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการและอีโก้ขนาดใหญ่ยักษ์ของผู้นำประเทศ... จากการสอบสวนอย่างยากลำบากกว่า 2 ปี ก็ได้ข้อสรุปเกินที่จะโต้แย้งได้ว่าเขาได้ยักยอกเงินออกไปจากฟิลิปปินส์มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินส่วนใหญ่ที่ควรจะเป็นของประชาชนและประเทศฟิลิปปินส์นั้นได้หายไปอยู่ในบัญชีเงินฝากที่สวิตเซอร์แลนด์ไปตลอดกาล”

image

“เงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” คุณ Hancock เขียนต่อ “ถูกใช้จ่ายไปกับการสะสมผลงานศิลปะของอีเมลดา มาร์กอสผู้เป็นภรรยา…

รสนิยมด้านศิลปะของเธอนั้นหลากหลาย ซึ่งรวมถึงภาพวาดระดับตำนานของจิตรกรชั้นครูจำนวน 6 รูป ที่เธอได้ซื้อมาจากห้องแสดงผลงานศิลปะ Knoedler ในเมืองนิวยอร์กด้วยราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพวาดสีน้ำมันของฟราสซิส เบคอน จากห้องแสดงผลงานศิลปะ Marlborough ในกรุงลอนดอน และผลงาน ‘พระแม่มารีและพระบุตร’ ของมิเคลันเจโล ที่ซื้อจาก Mario Bellini ที่เมือง Florence มูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของระบอบมาร์กอสนั้น” เขากล่าว “ในขณะที่ผลงานสะสมศิลปะอันล้ำค่าถูกแขวนไว้เต็มฝาผนังในเพนท์เฮ้าส์ที่แมนฮัตตันและปารีส ผู้คนในประเทศฟิลิปปินส์กลับมีมาตรฐานทางโภชนาการที่ต่ำกว่าทุกชาติในเอเชีย ยกเว้น ประเทศที่กำลังบอบช้ำจากพิษสงครามอย่างกัมพูชา”

เพื่อควบคุมการก่อความไม่สงบของประชาชน คุณ Hancock เขียนไว้ว่า มาร์กอสสั่งห้ามการหยุดงานเพื่อประท้วงและ “การจัดตั้งสหภาพแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมนั้นถูกทำให้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ชาวฟิลิปปินส์นับพันถูกคุมขังจากการต่อต้านเผด็จการ ส่วนมากถูกทรมานและฆ่าทิ้ง ในเวลาเดียวกันประเทศฟิลิปินส์ก็ยังคงอยู่ในรายชื่อของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอันดับต้น ๆ จากทั้งสหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกมาโดยตลอด”

ถึงแม้ว่าหลังจากที่ชาวฟิลิปปินส์ได้ขับไล่มาร์กอสพ้นจากอำนาจไปแล้ว พวกเขาก็ยังคงต้องจ่ายเงินต่อปีเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 40-50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ “เพียงเพื่อจ่ายดอกเบี้ยจากหนี้สินต่างประเทศที่มาร์กอสได้ก่อไว้”

โดยทั่วไปเราคงคิดว่าหลังมาร์กอสถูกขับพ้นอำนาจแล้ว ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ก็ไม่ควรที่จะต้องมารับเคราะห์ในการจ่ายหนี้ที่มาร์กอสก่อขึ้นมาโดยปราศจากความเห็นชอบของพวกเขา แต่ความเป็นจริงมันกลับไม่เป็นแบบนั้น ในทางทฤษฎีแล้วแนวความคิดนี้เรียกว่า “หนี้ที่ชั่วร้าย (Odious Debt)” ซึ่งถูกคิดค้นโดยประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1898 ในตอนที่พวกเขาปฏิเสธการใช้หนี้แทนประชาชนคิวบา หลังจากที่กองกำลังของชาวสเปนได้ถูกขับไล่ออกไปจากเกาะ

ผู้นำสหรัฐฯ ได้ตัดสินว่าหนี้สิน “ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้กำราบหรือเพื่อใช้ยึดอำนาจจากประชาชน” นั้นถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางธนาคารโลกและกองทุน IMF เองก็ไม่เคยทำตามบรรทัดฐานนี้เลยในตลอดระยะเวลา 75 ปีที่ได้ดำเนินงานมา และช่างเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายด้วยซ้ำที่ทาง IMF เองก็มีบทความลงในเว็บไซต์ของพวกเขาที่แนะนำว่าคนอย่าง โซโมซ่า, มาร์กอส, ประเทศแอฟริกาใต้ยุคแบ่งชนชั้นด้วยสีผิว, “เบบี้ ด็อก”ของประเทศเฮติ และสานิ อาบาชา ของประเทศไนจีเรีย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่กู้ยืมเงินมาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และควรยกหนี้ให้กับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของคนเหล่านี้

แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงคำแนะนำที่ยังไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติจริง


หมายเหตุผู้แปล : - อนาสตาซิโอ โซโมซ่า เดเบย์เล่ (Anastasio Somoza Debayle) เป็นผู้นำของประเทศนิคารากัวตั้งแต่ปี 1967 จนกระทั่งถูกโค่นล้มโดยพรรคแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติซานดินิสตา (FSLN) ในปี 1979 - ฌอง-โคลด ดูว์วาลิเย (Jean-Claude Duvalier) ฉายา ‘เบบี้ ด็อก (Baby Doc)’ เป็นผู้นำของประเทศเฮติในช่วงปี 1971-1986

- สานิ อาบาชา (Sani Abacha) เป็นผู้นำของประเทศไนจีเรีย โดยดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1993-1998

ถ้าพูดในทางเทคนิคและในทางศีลธรรมแล้ว หนี้ส่วนใหญ่ของประเทศโลกที่สามควรจะถือว่าเป็นหนี้ที่ “ชั่วร้าย” และประชาชนของประเทศเหล่านั้นไม่ควรต้องรับผิดชอบอะไรหากผู้นำเผด็จการของประเทศถูกขับไล่ออกไป เพราะอย่างไรก็ตาม ในกรณีส่วนใหญ่ ผู้คนที่ต้องรับเคราะห์ในการจ่ายหนี้คืนนั้นไม่ได้มีโอกาสเลือกผู้นำของตนเอง และไม่ได้เลือกที่จะกู้เงินซึ่งจะต้องแลกมาด้วยอนาคตของพวกเขาเองด้วยเช่นกัน

โดยในเดือนกรกฎาคมปี 1987 ผู้นำการปฏิวัติ โตมาส์ ซังการา* ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อองค์กรแอฟริกาสามัคคี (Organization of African Unity: OAU) ณ ประเทศเอธิโอเปีย เขาปฏิเสธที่จะจ่ายหนี้ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคที่บูร์กินาฟาโซยังตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และสนับสนุนให้ประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันทำตามเขา


หมายเหตุผู้แปล : โตมาส์ ซังการา (Thomas Sankara) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศบูร์กินาฟาโซ โดยดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1983-1987

“เราจะไม่จ่าย” เขากล่าว “เพราะเราไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการก่อหนี้ก้อนนี้”

ซังการาโด่งดังขึ้นมาจากการคว่ำบาตร IMF และปฏิเสธที่จะเข้ารับการปรับโครงสร้าง แต่เพียง 3 เดือนหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ข้างต้น เขาก็ถูกลอบสังหารโดยแบลซ กงปาออเร ผู้ที่ต่อมาได้ก่อตั้งระบอบเผด็จการทหารขึ้นมาปกครองประเทศยาวนานกว่า 27 ปี โดยได้รับเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างกว่า 4 ครั้งจาก IMF และทำการกู้เงินอีกหลายครั้งจากธนาคารโลกเพื่อใช้สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และโครงการด้านเกษตรกรรม

ซึ่งนับตั้งแต่การตายของซังการาครั้งนั้น ก็แทบจะไม่มีผู้นำประเทศใดเลยที่กล้าจะลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนในการปฏิเสธหนี้สินที่พวกเขาไม่ได้ก่อ

image

ผู้นำเผด็จการชาวบูร์กินาฟาโซ แบลซ กงปาออเร และกรรมการบริหารของ IMF ดอมีนิก สโทรส-กาน (Dominique Strauss-Kahn)

แต่ก็มีกรณียกเว้นใหญ่ ๆ เช่น ประเทศอิรัก โดยหลังจากการบุกของสหรัฐอเมริกาและขับไล่ ซัดดัม ฮุสเชน* ในปี 2003 ทางการสหรัฐฯ สามารถทำให้หนี้บางส่วนที่ก่อโดยฮุสเซนถือเป็นหนี้ที่ “ชั่วร้าย” และทำการยกหนี้ให้

นี่ถือเป็นกรณียกเว้นที่พิเศษมาก ๆ แต่สำหรับคนนับพันล้านคนที่ต้องทนทุกข์ภายใต้ลัทธิล่าอาณานิคมหรือเผด็จการ และถูกบังคับให้จ่ายหนี้เหล่านี้พร้อมดอกเบี้ย พวกเขาไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษแบบนี้


หมายเหตุผู้แปล : ซัดดัม ฮุสเชน (Saddam Hussein) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศอิรัก โดยดำรงตำแหน่งตั้งปี 1979-2003

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา IMF ถึงขนาดทำตัวเหมือนเป็นกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติและคอยสกัดกั้นกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

โดยในช่วงยุค 1990 กองทุน IMF ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา จากการมีส่วนสนับสนุนให้อดีตสหภาพโซเวียตเกิดความไร้เสถียรภาพอย่างรุนแรงในช่วงที่ประเทศตกอยู่ในความโกลาหลทางเศรษฐกิจ จนผลักดันให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบอบเผด็จการของวลาดีมีร์ ปูติน

และในปี 2011 ขณะที่กำลังเกิดการประท้วงอาหรับสปริงทั่วดินแดนตะวันออกกลาง ก็ได้มีการจัดตั้งความร่วมมือ ณ เมือง Deauville กับชาติอาหรับที่อยู่ในการเปลี่ยนผ่าน (Deauville Partnership with Arab Countries in Transition) เพื่อรับมือกับประชาชนที่ลุกฮือกันต่อต้านรัฐ และมีการพบปะเพื่อประชุมกันที่กรุงปารีส


หมายเหตุผู้แปล : - วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหพันธรัฐรัสเซียตั้งแต่ปี 2000

- อาหรับสปริง (Arab Spring ) เป็นการเดินขบวน การประท้วง และการปฏิวัติซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับในช่วงปี 2010-2012 โดยส่งผลให้ผู้นำในประเทศต่าง ๆ ถูกโค่นจากอำนาจ เช่น ในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน และมีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในอัลจีเรีย อิรัก จอร์แดน คูเวต โมร็อกโก และซูดาน

image

ด้วยกลไกในการร่วมมือครั้งนี้ ส่งผลให้ทางธนาคารโลกและกองทุน IMF กลายเป็นผู้นำในการเสนอสินเชื่อมูลค่ามหาศาลแก่ประเทศเยเมน ตูนิเชีย อียิปต์ โมร็อกโก และจอร์แดน ซึ่งคือ “เหล่าประเทศอาหรับที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน” โดยแลกกับการเข้ารับการปรับโครงสร้าง

ผลลัพธ์ที่ได้จากการยอมรับสินเชื่อนี้คือหนี้สินนอกประเทศของตูนิเซียนั้นพุ่งทะยาน จนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ทันกำหนด ทำให้ต้องกู้เงินจาก IMF ใหม่อีก 2 ครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988 ที่ประเทศต้องกู้เงินจาก IMF โดยมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับหนี้เหล่านี้นำไปสู่การเสื่อมค่าของสกุลเงินดินาร์ตูนิเซีย ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นและเกิดการประท้วงขึ้นทั่วประเทศ ในขณะที่รัฐบาลพยายามทำตามวิธีการของ IMF ด้วยการกดค่าแรง เพิ่มภาษีรูปแบบใหม่ ๆ และ “การบังคับเกษียณก่อนกำหนด” ของข้าราชการในภาครัฐ

ผู้ประท้วงอายุ 29 ปีนาม Warda Atig ได้สรุปสถานการณ์ไว้ดังนี้ “ตราบใดที่ตูนิเซียยังคงทำข้อตกลงกับ IMF ไปเรื่อย ๆ พวกเราก็ยังคงต้องตะเกียกตะกายดิ้นรนแบบนี้ต่อไปไม่จบไม่สิ้น” เธอกล่าว “เราเชื่อว่า IMF ไม่ได้เห็นประโยชน์ตรงกันกับผู้คน และการปลดแอกจากการควบคุมของ IMF ซึ่งเป็นตัวการทำให้ตูนิเซียกลายเป็นประเทศที่หมดสภาพและขัดขวางการเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คือสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงใด ๆ”

และทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือความจริงอันสยดสยองที่ IMF และธนาคารโลกกระทำกับหลายชาติทั่วโลก..

⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)


อ่านด้วยไคลเอนต์สำหรับบทความ
🟪 Yakihonne| https://w3.do/WiFZxndf
🟪 Habla Link| https://w3.do/tnyBBzTl

#Siamstr อย่าลืมเข้าร่วมกิจกรรม FuckIMF!
# ประกาศกิจกรรม #FuckIMF

## กติกา
1. เขียนโน้ตแชร์ไอเดียของคุณว่า ถ้าคุณเป็น IMF และธนาคารโลก คุณจะใช้กลวิธีอะไรสูบเอาทรัพยากรของไทยไปให้ประเทศกลุ่มอีลีท
2. อย่าลืมติดแท็ก #FuckIMF และ #Siamstr
3. สั้นยาวแค่ไหนก็ได้ไม่เกี่ยง จะแฟนตาซีหรือจะดาร์กขนาดไหนก็ได้ จัดมา มาลองมองโลกผ่านสายตาผู้ร้ายกัน!
4. บทความลงวี้กละ 3 ตอนจนครบ 18 ตอน แปลว่าร่วมสนุกได้ 6 ครั้ง (วี้ก) มีผู้ได้รับรางวัลรายวี้กไม่เกิน 3 คนเท่านั้น และเมื่อลงครบ 18 ตอนจะแจกรางวัลใหญ่🔥
5. แจกรางวัลประจำสัปดาห์เมื่อลงบทความตอนใหม่ครบอีก 3 ตอน (เช่น ของวี้กนี้ก็ร่วมสนุกได้จนถึงวันอาทิตย์เลยครับ)
6. ทุกคนที่ร่วมสนุกกิจกรรมนี้จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลใหญ่เมื่อจบกิจกรรม

## รางวัล 2 รางวัล
1. Badge สุดเท่ดีไซน์ไม่ซ้ำแค่ละวี้ก วี้กละ 1 ดีไซน์ คนที่ได้ไปคือคุณจะเป็นคนแค่ 3 คนในโลกที่มี Badge นี้ โคตรเท่ (รวมทั้งสิ้น 6 ดีไซน์)


2. หนังสือเล่มโปรดของ ของ และ ที่จะคัดมามอบให้ผู้โชคดีที่ร่วมกิจกรรมนี้ 1 ท่าน วิธีเลือกผู้โชคดี เดี๋ยวให้ คิดวิธีสุ่มอีกที 555


ใครอยากร่วมสนุกแต่คิดไอเดียไม่ออก อ่านบทความได้แล้ววันนี้ที่ รับรองปิ๊งกลไกความชั่วช้าของ 2 องค์กรชิงหมาเกิดนี้แน่นอน!

มาร่วมสนุกกันได้เลยยยยยย

ตอนที่ 1 :


ตอนที่ 2 :


ตอนที่ 3 :


วิธีแซ้ปบทความ


#RightShift #RightShiftCuration
#IMF #WorldBank
Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04