Why Nostr? What is Njump?
2024-03-27 09:57:20

Right Shift on Nostr: https://i.nostr.build/ml2m7.jpg ถอดเทป! #BitcoinTalk 179 How to NOT be ...



ถอดเทป! #BitcoinTalk 179 How to NOT be poor [ทำไงให้ไม่จน?]
.
วิดีโอความยาว 2 ชั่วโมงนี้ จะชวนให้คุณ “เริ่ม” ตั้งคำถามกับระบบการเงินที่กำลังสูบเลือดสูบเนื้อประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเรา
.
ที่มาของความลำบากยากจนสุดในยุคอภิมหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่เพราะพฤติกรรมการใช้เงินห่วยๆ ของประชาชน
.
แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้เงินของรัฐบาลหรือชนชั้นปกครองที่ผลักค่าครองชีพให้สูงขึ้นจนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชนชั้นกลางและชนชั้นรากหญ้า
.
โดยจะขอนำเสนอผ่านการทำความเข้าใจ “ระบบเงินเฟียต” หรือเงินตราที่ออกออกโดยรัฐบาล
.
โดยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้เองไปจนถึง เรื่องที่แม้จะอยู่เหนือการควบคุมของเราแต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะหนีจากมัน ถ้าพร้อมแล้ว…เชิญครับ
.
** คำเตือน : ไม่ใช่คำแนะนำและชักชวนในการลงทุน **
.
-----------------------------------------------
Chapter 1 : “การบริหารการเงินส่วนบุคคล (ฉบับรวบรัด)”
.
เริ่มวางแผนหลุดพ้นจากความยากจนในเรื่องที่เราพอทำได้กัน
-----------------------------------------------
.
เรามาทำความเข้าใจคำว่า “สภาพคล่อง (Liquidity)” และ “ความมั่งคั่ง (Wealth)”
.
พื้นฐานแรกในการเริ่มเก็บสะสมความมั่งคั่ง นั่นคือ เราจะต้องเป็นคนที่มีสภาพคล่องที่สุขภาพดีก่อน หรือก็คือ “ใช้ให้น้อยกว่าที่หามาได้”
.
หากไม่พอใช้ก็ต้องหาเพิ่มจนเหลือเก็บ และเก็บสำรองให้มากพอสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน นี่คือ “พื้นฐานการออม” ที่หลายคนพอจะรู้กันอยู่แล้ว
.
แต่สิ่งที่คุณต้องรู้เพิ่มคือ “เราไม่ควรมีสภาพคล่องที่เป็นเงินเฟียต (เงินตรารัฐบาล) ในจำนวนที่มากจนเกินไป”
.
เงินเหล่านี้เสื่อมค่าลงตลอดเวลา คุณไม่ควรถือมัน “มากเกิน” ที่จะทำให้คุณเสียโอกาสในการรักษาความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย
.
และคุณจะไม่ควรถือมัน “น้อยเกิน” ที่จะทำให้คุณจะต้องขายสินทรัพย์ที่คุณสะสมไว้เพื่อเติมสภาพคล่องในเวลาที่คุณเกิดขัดสนขึ้นมา
.
เราควรจะนำเงินส่วนเกินจากการออมเงินสำรองฉุกเฉิน ไปออมในสินทรัพย์ที่แข็งค่ามากกว่าเงินเฟียต เช่น ที่ดิน ทองคำ บิตคอยน์ หรือ สินทรัพย์อื่นๆ ที่คุณศึกษามันจนมั่นใจ
.
ใช่แล้วครับวิธีที่จะไม่จนฉบับรวบรัดนี้ ควรจะเป็นพื้นฐานการเงินที่ควรบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษาเบื้องต้น
.
มันคือ “พื้นฐานการออม” นั่นเอง โดยเฉพาะ “การออมในสินทรัพย์ที่ไม่เสื่อมค่า”
.
ซึ่งคุณเข้าใจถึงตรงนี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ในช่วงต่อไปจะทำให้คุณเข้าใจว่า “ทำไมเหล่าชนชั้นปกครองถึงไม่อยากให้ประชาชนของเขารู้เรื่องเหล่านี้?”
.
-----------------------------------------------
Chapter 2 : “ระบบเงินเฟียต (ฉบับรวบรัด)”
.
รากเหง้าของความเหลื่อมล้ำและการผ่องถ่ายความมั่งคั่งจากคนชนชั้นรากหญ้าสู่ชนชั้นปกครอง
-----------------------------------------------
.
ย้อนกลับไปอดีตที่เราใช้ทองคำเป็นเงิน เนื่องจากทองคำนั้นมีคุณสมบัติของการเป็นเงินที่ดีครบถ้วน 3 ประการ
.
นั่นคือ การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange), การเป็นหน่วยวัดทางบัญชี (Unit of Account) และ การเป็นเครื่องเก็บรักษามูลค่า (Store of Value)
.
และสิ่งที่ทำให้ทองคำเป็น “เงินที่แข็งแกร่งที่สุด” ตราบเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก คือความสามารถในการเก็บรักษามูลค่า
.
และหัวใจสำคัญของการเก็บรักษามูลค่าก็คือ “ความหายาก” และ “อัตราการผลิตที่คงที่คาดเดาได้”
.
ทองคำมีอัตราการผลิตเฉลี่ย 1-2% ต่อปี อุปทานที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ ทำให้ทองคำสามารถรักษามูลค่าข้ามผ่านกาลเวลาได้
.
ตามคำกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ "เงินที่มีค่าคือทองคำ และหากประเทศใดต้องการผลิตเงินของตัวเองก็จำเป็นจะต้องใช้ทองคำค้ำประกันค่าของเงินนั้น"
.
แต่หายนะมันเริ่มต้นขึ้นในวันที่ชนชั้นปกครองใช้ข้ออ้างในการทำศึกสงครามในการแอบผลิตเงินที่ไม่มีทองคำค้ำประกัน
.
มีปริมาณเงินในระบบมากกว่าทองคำที่มีในคลัง ทำให้เงินที่ไม่ได้ถูกค้ำด้วยทองคำเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว
.
จนในที่สุดประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้ตัดสินใจชักดาบทั้งโลกด้วยการยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำเพื่อหนีความผิดในการแอบผลิตเงินในปี ค.ศ. 1971
.
นับตั้งแต่นั้นมา ประเทศมหาอำนาจและเหล่าชนชั้นปกครองเหล่านี้ก็สามารถผลิตเงินเพิ่มได้อย่างง่ายดายดั่งใจนึก
.
และสกุลเงินที่ถูกผลิตได้อย่างง่ายดายนี้ กลายเป็นเงินสกุลเงินหลักของโลกที่คอยค้ำประกันสกุลเงินในประเทศที่อยู่ใต้อาณัติในเวลาต่อมา
.
ปริมาณเงินตรารัฐบาลที่เป็นเงินสกุลหลักของโลกสูญเสียมูลค่าในการจับจ่ายใช้สอยลงไปมากกว่า 99%
.
และมูลค่าของค่าเงินที่ถูกค้ำด้วยสกุลเงินหลักเหล่านี้ก็มีชะตากรรมที่ไม่ต่างกันนัก
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ที่เคยราคา 25 บาท ก็มีราคา 50-60 บาท มันช่างย้อนแย้งกับตัวเลขเงินเฟ้อ 2-3% ที่รัฐบาลประกาศเหลือเกิน
.
“ความสามารถในการเก็บออม” คือ สิ่งที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการ มันทำให้เราสามารถวางแผนอนาคตและกล้าที่จะมองการไกล
.
แต่บัดนี้ มนุษย์ได้เสียความสามารถนี้ไปแล้ว จากการถูกบังคับให้ใช้เงินที่เสื่อมค่าลงตลอดเวลา
.
มีคนบางกลุ่มที่รับรู้และพยายามจะเอาชนะเงินที่เสื่อมค่านี้ด้วยการนำเงินที่มีอยู่ไป “ลงทุน” ในสิ่งที่สร้างผลตอบแทนที่มากกว่าอัตราการเสื่อมค่าของเงิน
.
และกว่า 95% ของคนที่กระโดดเข้าสู่โลกการลงทุน “เจ๊งยับ”
.
ในขณะที่คนส่วนใหญ่อย่างเรากระเสือกกระสนทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็มีกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มที่ทำตัวเป็นปลิงตัวโตค่อยสูบเลือดสูบเนื้อพวกเรา
.
คนเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มนายทุน (Capitalist) อย่างที่สื่อกระแสหลักประโคมข่าวให้เป็นแพะรับบาป แต่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการผลิตเงิน (Cantillonaires)
.
ความสามารถในการผลิตเงินนี้ส่งกลิ่นยั่วยวนเหล่าผู้มีอำนาจน้อยใหญ่ให้เข้ามาเลียแข้งเลียขาผู้ผลิตเงินเพื่อให้พอได้รับเศษบุญกับเขาบ้าง
.
เกิดเป็นการรวมศูนย์อำนาจกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ความสามารถในการบริหารไม่ได้ใหญ่ตามขนาด
.
หายนะระลอกแรก คือ การใช้จ่ายปริมาณมหาศาลของคนกลุ่มเล็กๆ นี้ ก็มากพอที่จะดันราคาข้าวของเครื่องใช้ในระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
.
แต่คนที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตเงิน อย่างชนชั้นรากหญ้านั้นไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น
.
เกิดเป็นหายนะระลอกที่สอง คือการที่ชนชั้นรากหญ้าต้องถูกบังคับให้นำเอาสินทรัพย์มาขายเพื่อเติมสภาพคล่อง ให้พอต่อลมหายใจในสภาวะค่าครองชีพที่สูงนี้
.
เช่น ชาวนาที่ต้องจำใจขายที่ดินให้นักการเมืองเพื่อที่จะเปิดรีสอร์ต หรือ ชาวสวนการนำที่ดินทำกินไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคาร
.
ชนชั้นรากหญ้าค่อยๆ คายสินทรัพย์ของตัวเอง ป้อนเข้าสู่เหล่าชนชั้นปกครองที่เสกเงินที่มากว้านซื้อได้อย่างง่ายดาย
.
หายนะเหล่านี้ค่อยๆ เผยตัวออกมาในรูปของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นในพลังทวี สิ่งที่ระบบเงินเฟียตสร้างไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำในระดับผู้คน
.
แต่ยังลามมาถึงความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจ หรือ การผูกขาดธุรกิจ
.
-----------------------------------------------
Chapter 3 : “บริษัทซอมบี้ (ฉบับรวบรัด)”
.
การผูกขาดในภาคธุรกิจจากการบ่มเพาะในระบบเฟียต
-----------------------------------------------
.
ธุรกิจเก่าแก่ในยุคบุกเบิกที่ต้องการจะรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง ได้แทรกแซงรัฐบาลให้ออกกฎหมายที่เอื้อต่อตัวเองและกีดกันคู่แข่งหน้าใหม่
.
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ “กำแพงภาษี” ที่ออกแบบมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งจากเศรษฐีสู่ผู้ที่ขาดแคลน
.
แต่ในความเป็นจริง เหล่ามหาเศรษฐีและบริษัทจัดการภาษีทั้งหลาย ก็เสกให้ยอดภาษีที่เขาจะต้องเสียจริง น้อยกว่าค่าเช่าห้องของนักศึกษาปริญญาตรีเสียอีก
.
ธุรกิจเก่าแก่เหล่านี้ปักหลักขุดคลองน้ำขึ้นมาล้อมรอบตัวเอง ส่วนรัฐบาลทำตัวเป็นจระเข้ในลองที่คอยเฝ้าไม่ให้ธุรกิจหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้
.
เกิดเป็นการผูกขาดในภาคธุรกิจและเกิดเป็น “บริษัทซอมบี้” ที่แม้จะไม่ได้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ แต่ก็สามารถอยู่รอดได้เพราะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาล
.
กลับกัน ธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตยังไม่ทันได้โตก็ต้องฝ่อตาย บริษัทขนาดเล็กนั้นง่ายต่อการหาประสบการณ์ของเด็กจบใหม่
.
แต่พอเด็กเหล่านี้เริ่มมีความรู้และประสบการณ์ขึ้นมานิดหน่อย ก็ย้ายไปทำงานที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เกิดเป็นวัฒธรรมในการย้ายงานในปัจจุบัน
.
พนักงานไม่มีความจงรักภักดีกับบริษัท แต่ต้องการที่จะยกระดับเงินเดือนของตัวเองให้ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
.
บริษัทขนาดเล็กก็กลายเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเด็กที่ปั้นเด็กจบใหม่ป้อนเข้าสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ และเสียโอกาสในการเติบโต
.
บริษัทขนาดเล็กก็ยิ่งเล็กลงไปอีกหรือไม่ก็ต้องปิดบริษัทไป ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่มาก่อนก็ใหญ่ขึ้นไปอีก
.
-----------------------------------------------
ทั้งหมดนี้ คือโลกที่ผิดเพี้ยนจาก "ระบบเงินเฟียต" ระบบการเงินที่อำนาจในการผลิตเงินอยู่ในมืองของคนไม่กี่คน
.
และแน่นอนที่เหล่าชนชั้นปกครองและลูกหาบทั้งหลายที่คอยทำตัวเป็นปลิงสูบเลือดสูบเนื้อประชาชน คงไม่ยอมปล่อยอำนาจเหล่านี้ให้หลุดจากมือ
.
กลับกัน คนเหล่านี้จะทำทุกวิถีทางเพื่อสั่งสมอำนาจของตัวเองและแกล้งทำตัวเป็นพ่อพระด้วยโครงการแห่งความยั่งยืนทั้งหลาย
.
โครงการเหล่านี้ไม่เคยแก้ปัญหาได้ถูกจุด เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริง คือ "ระบบการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่าผู้มีอำนาจไม่กี่กลุ่ม"
.
มาถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาหัวว่า เราหากมีเงินที่แข็งแกร่ง เงินที่เก็บรักษามูลค่าได้ เงินที่ไม่ถูกควบคุมและแทรกแซงโดยเหล่าผู้มีอำนาจไม่ว่าใคร
.
...เราอาจจะได้เห็นโลกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ก็ได้นะ?
.
-----------------------------------------------
“Don’t trust, verify”
.
เนื้อหาในบทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคลิป BitcoinTalk 179 How to NOT be poor และหนังสือ The Fiat Standard ที่อยากชี้ให้เห็นปัญหาสังคมที่สั่งสมมานาน ที่มีสาเหตุมาจาก “ระบบเงินเฟียต” หรือระบบเงินสร้างง่ายที่อำนาจการผลิตอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม
.
ผมไม่คาดหวังคุณจะให้คุณเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ก็หวังอย่างยิ่งว่ามันจะกระตุกจิตกระชากใจให้คุณเริ่มที่จะตั้งกับถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
.
ถ้าหากคุณเชื่อผม ก็ขอให้คุณศึกษามันต่อและตกตะกอนมันด้วยตัวคุณเอง แต่ก็เกิดคุณไม่เชื่อ ผมก็ขอให้คุณโชคดีครับ :)
.
#เวลามีค่าศึกษาบิตคอยน์ #Siamstr
-----------------------------------------------
Author Public Key
npub1ejn774qahqmgjsfajawy7634unk88y26yktvwuzp9kfgdeejx9mqdm97a5