Why Nostr? What is Njump?
2023-09-24 09:52:38

RightShiftCuration on Nostr: ตอนที่ 9 ของบทความ #FuckIMF | ...


ตอนที่ 9 ของบทความ #FuckIMF | สาวไส้ลึกลงไปในองค์กรปรสิต ที่สูบกินเลือดเนื้อของคนทั้งโลกไปปรนเปรอพวกพ้องและชาติร่ำรวย #Siamstr

9. กลุ่มผู้พัฒนา

ขอตัวนะพวก ฉันต้องไปขึ้นเครื่องเหินเวหา ฉันจะไปเข้าร่วมกับกลุ่มผู้พัฒนา

กระเป๋าก็จัดแล้ว วัคซีนก็ฉีดมา เช็คเดินทางพร้อม ท้องเสียก็มียา

กลุ่มผู้พัฒนานั้นช่างฉลาดและดีงาม ลึกล้ำความคิด มองไกลทั่วเขตคาม

แม้กายอยู่กับอีลีทชนบนหอคอยงาช้าง แต่ใจเรานั้นเฝ้าคิดถึงประชาชนไม่ห่าง

จากโรงแรมเชอราตันในชาติที่แตกสลาย เราสาปแช่งพวกบรรษัทข้ามชาติให้ไปตาย

การต่อสู้ความอยุติธรรมนั้นแสนง่ายดาย จากสถานที่พักผ่อนอันแสนสุขสบาย

คุยเรื่องอาหารขาดแคลนระหว่างกินสเต๊ก คุยเรื่องความหิวโหยตอนพักดื่มกาแฟเล็ก ๆ

ไม่ว่าจะน้ำท่วมที่เอเชียหรือน้ำแล้งที่แอฟริกา เราเผชิญหน้ามันด้วยความตื่นเต้นหนักหนา

และนั่นคือบทกลอนเรื่อง “กลุ่มผู้พัฒนา (The Development Set)” จากปี 1976 เขียนโดยคุณ Ross Coggins ที่ตรงเข้าเล่นงานหัวใจสำคัญเรื่องสันดานหยาบของธนาคารโลกและกองทุน IMF ที่เน้นดำเนินนโยบายบีบบังคับและจำกัดทางเลือกของชาติที่ด้อยกว่า โดยที่ไม่เคยต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อผลของนโยบายตัวเองเลย

งานในธนาคารโลกนั้นมีเงินเดือนที่สูง ปลอดภาษี และยังมีสวัสดิการที่ดีเยี่ยม ยิ่งถ้าเป็นเจ้าหน้าที่กองทุน IMF เงินเดือนก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก และโดยปกติแล้วพวกเขาบินด้วยตั๋วที่นั่งระดับ First Class หรือ Business Class (ขึ้นอยู่กับระยะทาง) ไม่เคยบินด้วยที่นั่งระดับ Economy พวกเขาพักในโรงแรมหรูห้าดาว และมีกระทั่งสิทธิพิเศษในการอัปเกรดฟรีเพื่อนั่งเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงอย่างคองคอร์ด เงินเดือนของพวกเขานั้นแตกต่างจากค่าแรงของผู้คนในประเทศที่เข้ารับการปรับโครงสร้างราวฟ้ากับเหว ซึ่งคือไม่มีเพดานเงินเดือน แถมมีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก

image

กระทั่งถึงช่วงกลางยุค 1990 ภารโรงที่ทำความสะอาดสำนักงานใหญ่ของธนาคารโลกในวอชิงตัน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้อพยพจากประเทศที่ถูกธนาคารโลกและกองทุน IMF “เข้าไปปรับโครงสร้าง” นั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้แม้กระทั่งรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ในขณะเดียวกัน เงินเดือนของคุณคริสติน ลาการ์ดในฐานะหัวหน้ากองทุน IMF ที่ไม่ต้องเสียภาษีนั้นอยู่ที่ 467,940 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีเบี้ยเลี้ยงอีกกว่า 83,760 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และแน่นอนว่าในสมัยที่เธอดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2011-2019 นั้น เธอดูแลการปรับโครงสร้างของประเทศที่ยากจนหลากหลายโครงการ ซึ่งอัตราภาษีในบรรดากลุ่มประเทศที่อ่อนแอที่สุดนั้นมักจะมีการถูกปรับให้สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา


หมายเหตุผู้แปล : คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนIMF ช่วงปี 2011-2019 และตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank ECB)

คุณ Graham Hancock ได้ชี้ให้เห็นถึงการจ่ายค่าตอบแทนในธนาคารโลกที่ฟุ่มเฟือยสุด ๆ ในยุค 1980 ซึ่ง “โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี” และเขาชี้ว่าเมื่อผู้บริหารกว่า 700 คนต้องออกจากงานในปี 1987 เงินค่าชดเชยที่พวกเขาได้รับซึ่งมีมูลค่ากว่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นมากเกินพอ “ที่จะจ่ายให้เด็ก 63,000 คนจากครอบครัวที่ยากจนในลาตินอเมริกาหรือในแอฟริกา สำหรับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนเรียนจบ”

คุณ James Wolfensohn อดีตประธานธนาคารโลกในช่วงปี 1995-2005 ได้กล่าวไว้ว่าธนาคารโลกมีโครงการมากกว่า 63,000 โครงการในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแค่ค่าใช้จ่ายในการ “ศึกษาความเป็นไปได้” รวมถึงค่าเดินทางและที่พักของเหล่าผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอุตสาหกรรมอย่างเดียวก็กินไปกว่าร้อยละ 25 ของเงินช่วยเหลือแล้ว

50 ปีหลังการก่อตั้งธนาคารโลกและกองทุน IMF “ร้อยละ 90 ของเงินกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้เป็นค่าความช่วยเหลือด้านเทคนิค ถูกนำไปใช้จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ” คุณ George Ayittey ยังชี้ให้เห็นอีกว่าแค่ในปี 1994 มีที่ปรึกษาของธนาคารโลกมากกว่า 80,000 คนที่ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแอฟริกา แต่มีคนทำงานที่เป็นชาวแอฟริกันไม่ถึงร้อยละ 0.01

คุณ Hancock เขียนว่า “การที่ธนาคารโลกทุ่มเงินให้กับโครงการต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าสถาบันการเงินใด ๆ นั้น พวกเขาอ้างเหตุผลว่า ‘ต้องการให้ผู้ที่ยากจนที่สุด ได้รับในสิ่งที่จำเป็น’ แต่ไม่มีขั้นตอนไหนเลยในสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘วัฏจักรของโครงการ (Project Cycle)’ ที่พวกเขาจะใช้เวลาเพื่อสอบถามคนยากจนว่าจริง ๆ แล้วนี่คือสิ่งที่คนจนเหล่านั้นต้องการจริงหรือไม่.. คนจนถูกตัดออกจากกระบวนการตัดสินใจทั้งหมด ราวกับว่าพวกเขาไม่ได้มีตัวตน”

image

นโยบายของธนาคารโลกและกองทุน IMF ถูกสร้างขึ้นจากการประชุมในโรงแรมที่หรูหรา โดยผู้คนที่จะไม่มีวันได้สัมผัสการใช้ชีวิตที่ยากจนแม้แต่วันเดียว อย่างที่คุณ Joseph Stiglitz ยกประเด็นไว้ในการวิพากษ์วิจารณ์ธนาคารโลกและกองทุน IMF ว่า “สงครามสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงถูกออกแบบมาให้ขจัดการปะทะกันเชิงกายภาพ การทิ้งระเบิดจากความสูง 50,000 ฟุตนั้นทำให้มั่นใจได้ว่าคนที่กดปุ่มจะไม่ ‘รู้สึกผิดอะไร’ แบบที่มนุษย์ควรจะรู้สึก การบริหารเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็คล้ายกัน นั่นคือ ณ โรงแรมหรูหราสักแห่งหนึ่ง ใครสักคนสามารถที่จะวางนโยบายที่โหดเหี้ยมได้ นโยบายที่พวกเขาต้องลังเลที่จะทำแน่นอน หากได้รู้จักกับเหล่าผู้คนที่ชีวิตกำลังจะถูกทำลาย”

และที่น่าทึ่งคือในบางครั้งผู้นำของธนาคารโลกและกองทุน IMF ก็คือคนเดียวกันกับคนที่สั่งทิ้งระเบิดอีกด้วย

ตัวอย่างเช่นคุณ Robert McNamara ซึ่งอาจถือว่าเป็นผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารโลก เขาโด่งดังจากการขยายวงเงินการปล่อยกู้อย่างมหาศาล และทำให้ประเทศที่ยากจนต้องจมลงไปด้วยหนี้ที่ไม่มีทางออก เขาเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรกของฟอร์ด (Ford Corporation) ก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ส่งทหารอเมริกันกว่า 500,000 นายไปสู้รบที่เวียดนาม และหลังออกจากตำแหน่งในธนาคารโลกแล้ว เขาก็ไปรับตำแหน่งกรรมการในบริษัท รอยัลดัตช์เชลล์ (Royal Dutch Shell)

นอกจากนี้ บุคคลที่เป็นผู้นำของธนาคารโลกในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นานคือคุณ Paul Wolfowitz ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำสงครามในอิรัก

image

กลุ่มผู้พัฒนานั้นทำการตัดสินใจในสถานที่ที่ห่างไกลจากผู้คนที่ต้องรับผลกระทบจริง และพวกเขาซ่อนรายละเอียดทุกอย่างไว้ภายใต้งานเอกสาร รายงาน และคำศัพท์สละสลวยที่มีอยู่เป็นกองเท่าภูเขา เช่นเดียวกันกับสำนักงานของเจ้าอาณานิคมยุคเก่าอย่างอังกฤษ ที่ทางคณะทำงานเองก็ปกปิดตัวเอง “แบบเดียวกับที่หมึกกระดองซ่อนตัวในเมฆหมอกของน้ำหมึก”

ประวัติศาสตร์มากมายที่ถูกเขียนขึ้นโดยกลุ่มผู้พัฒนาเป็นเพียงการเชิดชูบางอย่างให้เกินจริง แต่ประสบการณ์ที่ผู้คนได้เผชิญจริง ๆ นั้นกลับถูกลบออกไป

ตัวอย่างที่ดีคืองานวิจัยที่ชื่อว่า “การปรับดุลการชำระเงินช่วงปี 1945 ถึง 1986 : ประสบการณ์ IMF (Balance of Payments Adjustment, 1945 to 1986: The IMF Experience)” ซึ่งการอ่านวิจัยทั้งเล่มนี้มอบประสบการณ์อันแสนน่าเบื่อให้กับผู้เขียน เพราะมันละเลยในส่วนผลประโยชน์ตกทอดจากยุคล่าอาณานิคม ในขณะที่เรื่องราวของบุคคลแต่ของละคนและประสบการณ์ของผู้คนที่ต้องทนทุกข์จากนโยบายของธนาคารโลกและกองทุน IMF กลับไม่ถูกพูดถึงเลย ความยากลำบากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นถูกฝังไว้ใต้แผนภูมิและสถิติจำนวนนับไม่ถ้วน งานวิจัยเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ครอบงำบทสนทนาและการถกเถียงถึงสิ่งพวกนั้น ดูเหมือนความสำคัญหลักของมันคือการหลีกเลี่ยงที่จะดูหมิ่นเหล่าเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกและกองทุน IMF แม้จะจริงอยู่ที่ว่าในงานวิจัยนี้มีบางส่วนที่สื่อไปในทิศทางว่ามันอาจจะมีความผิดพลาดของนโยบายเกิดขึ้น แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นจริง ธนาคารโลกและกองทุน IMF ก็มีเจตนาที่ดี เพราะพวกเขายื่นมือเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ

image

อีกตัวอย่างจากงานวิจัยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การปรับโครงสร้างในประเทศอาร์เจนตินาในช่วงปี 1959 และ 1960 ถูกบรรยายในทำนองที่ว่า “ถึงแม้ว่าในตอนแรกมาตรการเหล่านี้ได้ทำให้ระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในอาร์เจนติน่าหลายภาคส่วนลดต่ำลง แต่เพียงในช่วงระยะเวลาอันสั้นนั้น มาตรการเหล่านี้ได้ส่งผลที่เป็นบวกต่อดุลการค้าและดุลการชำระเงิน และมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองต่างประเทศ อัตราการขยายตัวของค่าครองชีพลดลงอย่างมาก มีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่คงที่ และมีการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น” หรือถ้าจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ

“ก็จริงอยู่นะที่คนทั้งประเทศถูกทำให้จนลงอย่างมหาศาล แต่ว่างบการเงินของเราก็ดีขึ้นนะ รัฐบาลมีเงินมากขึ้น แถมพวกบริษัทระดับโลกยังสนใจเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับเรามากขึ้นด้วย”

คำพูดที่สละสลวยแบบนี้ยังมีมาอยู่เรื่อย ๆ เช่น ชาติที่ยากจนมักถูกอ้างอยู่เสมอว่าเป็น “กรณีทดสอบ” เหล่าศัพท์เฉพาะ ถ้อยคำสุดซับซ้อน และภาษาที่ใช้ในด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะซ่อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันถูกใช้อำพรางความจริงที่โหดเหี้ยม ด้วยข้อบังคับ ด้วยกระบวนการ และด้วยทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงให้เห็นถึงกลไกเบื้องหลังที่ช่วยให้ประเทศร่ำรวยสามารถสูบทรัพยากรออกไปจากประเทศที่ยากจน และสนุกกับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานที่ส่งผลให้ประชาชนของพวกเขาร่ำรวยขึ้น ในขณะที่ทำให้ประชาชนของชาติอื่น ๆ นั้นยากจนลงอย่างรุนแรง

ณ จุดสูงสุดในความสัมพันธ์ของธนาคารโลกและกองทุน IMF กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นคืองานประชุมประจำปีของพวกเขาในเมืองวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเป็นงานเลี้ยงสุดยิ่งใหญ่ในหัวข้อ “ความยากจน” แต่จัดบนแผ่นดินของประเทศที่รวยที่สุดในโลก

“ท่ามกลางอาหารที่ได้จัดเตรียมไว้อย่างสวยงามกองเท่าภูเขา” คุณ Hancock เขียน “ธุรกิจมากมายได้บรรลุข้อตกลงกันที่นี่ ในขณะเดียวกัน การแสดงอำนาจและการโอ้อวดความร่ำรวยอย่างโอ่อ่านี้ ดูช่างเข้ากันได้ดีกับวาทศิลป์ที่ไร้ความหมายและว่างเปล่า สำหรับบทสนทนาเรื่องของความยากลำบากของคนจนทั่วโลก”

image

“ชายหญิงกว่า 10,000 คนที่เข้าร่วมงานนั้น” เขาเขียน “ดูไม่มีทีท่าว่าจะสามารถทำตามวัตถุประสงค์อันสูงส่งของพวกเขาได้อย่างแน่นอน เพราะถ้าพวกเขาไม่ได้นั่งหาวหรือนั่งหลับอยู่ในช่วงที่มีการประชุม พวกเขาก็จะสนุกกับการกินเลี้ยงในปาร์ตี้ค็อกเทล กินมื้อกลางวัน จิบน้ำชายามบ่าย ดื่มด่ำมื้อค่ำและขนมขบเคี้ยวยามดึกที่หรูหรามากพอจะทำให้เหล่านักกินหน้าใหม่เหล่านี้อิ่มพุงกางได้ ค่าใช้จ่ายรวมสำหรับกิจกรรมทางสังคมกว่า 700 งานของเหล่าผู้แทนจากองค์กรเหล่านี้ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ (ในปี 1989) ถูกประมาณการไว้ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น่าจะถูกใช้ในการ ‘ช่วยให้คนจนได้รับในสิ่งที่จำเป็น’ ถ้ามันไม่ได้ถูกนำมาใช้กับสิ่งอื่นแบบนี้”

ซึ่งนั่นคือเมื่อ 33 ปีก่อน ส่วนวันนี้เราก็คงได้แต่จินตนาการว่าค่าใช้จ่ายในการจัดเลี้ยงจะมหาศาลขนาดไหน

ในหนังสือ “The Fiat Standard” โดยคุณเซเฟดีน อัมมูส (Saifedean Ammous) นั้นมีคำเรียกที่ต่างออกไปสำหรับกลุ่มผู้พัฒนา นั่นคือ “อุตสาหกรรมทุกข์ระทม” (Misery Industry) โดยคำอธิบายในหนังสือของเขานั้นคู่ควรแก่การยกมาอ้างอิงแบบเต็ม ๆ ว่า

“เมื่อยามที่แผนการของธนาคารโลกล้มเหลวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีหนี้สินที่ไม่สามารถถูกจ่ายคืนได้แล้ว กองทุน IMF ก็จะเข้ามากรรโชกทรัพย์ประเทศที่เบี้ยวหนี้เหล่านี้ ปล้นสะดมทรัพยากรของพวกเขา และรวมถึงการเข้าควบคุมสถาบันทางการเมือง ซึ่งนี่เป็นความสัมพันธ์แบบซิมไบโอติก สององค์กรนี้เข้าคู่กันทำหน้าที่เป็นปรสิตที่คอยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างการเดินทางอย่างมหาศาลให้แรงงานในอุตสาหกรรมทุกข์ระทม โดยมีเหล่าประเทศยากจนเป็นผู้รับเคราะห์ในการต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดด้วยเงินที่กู้มา”


หมายเหตุผู้แปล : ซิมไบโอติก (Symbiotic) หมายถึงรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิดที่มีต่อกันอย่างใกล้ชิดและยาวนาน โดยหนึ่งในรูปแบบของความสัมพันธ์ซิมไบโอติก คือ ภาวะรูปแบบปรสิต (Parasitic) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปรสิต (Parasite) กับร่างที่อยู่อาศัย (Host) โดยในความสัมพันธ์นี้ ฝ่ายปรสิตจะเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากร่างที่อยู่อาศัยฝ่ายเดียวและในขณะเดียวกันก็ทำอันตรายต่อร่างที่ปรสิตอาศัยอยู่

“ยิ่งเราอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเท่าไร” คุณอัมมูสกล่าว “เราก็ยิ่งตระหนักได้ว่าการมอบอำนาจอันทรงพลังให้กับเหล่าองค์กรของรัฐ ในการปล่อยกู้เงินเฟียตได้อย่างไม่จำกัดแก่เหล่าคนจนบนโลก โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ มันสามารถสร้างความหายนะได้มากขนาดไหน ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับคนในชาติสามารถเข้าควบคุมและวางแผนจัดการเศรษฐกิจของทั้งประเทศจากส่วนกลางได้… ชาวพื้นเมืองถูกขับไล่จากพื้นที่ของพวกเขา ธุรกิจเอกชนถูกปิดเพื่อรักษาอำนาจผูกขาดไว้ อัตราภาษีถูกปรับขึ้น และทรัพย์สินถูกยึด... ข้อตกลงปลอดภาษีถูกมอบให้กับบริษัทข้ามชาติ โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตในพื้นที่กลับต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะเงินเฟ้อ เพียงเพื่อช่วยสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังแบบมือเติบของรัฐบาล”

“โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลงในการผ่อนปรนหนี้ที่ลงนามกับกลุ่มอุตสาหกรรมทุกข์ระทมนั้น” คุณอัมมูสกล่าวต่อ “คือรัฐบาลถูกกดดันให้ขายทรัพย์สินมีค่าที่สุดของพวกเขาบางส่วน ซึ่งรวมถึงกิจการรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ไม่เฉพาะแค่นั้น เพราะยังรวมไปถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในประเทศและที่ดินหลายส่วนอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว IMF จะเอาทรัพย์สินเหล่านี้ไปประมูลขายให้กับเหล่าบริษัทข้ามชาติ และช่วยเจรจาเพื่อให้บริษัทเหล่านี้ได้รับข้อยกเว้นทั้งด้านภาษีและด้านกฎหมาย โดยหลังจากหลายทศวรรษแห่งการทำให้โลกอิ่มหนำสำราญกับการปล่อยให้กู้เงินแบบง่าย ๆ เหล่าสถาบันการเงินระหว่างประเทศใช้เวลาในช่วงยุค 1980 ทำหน้าที่เป็นเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์ โดยพวกเขาจะขุดคุ้ยซากปรักหักพังของประเทศโลกที่สามที่ถูกทำลายด้วยนโยบายของพวกเขาเอง และทำการขายอะไรก็ตามที่ยังพอมีค่าอยู่ให้กับเหล่าบริษัทข้ามชาติ และยังจัดหาความคุ้มครองทางกฎหมายให้บริษัทข้ามชาติที่ต้องเข้าไปปฏิบัติการในประเทศที่กลายเป็นซากปรักหักพังเหล่านี้ การจัดสรรทรัพยากรแบบในเรื่องโรบินฮู้ด แต่กลับหัวกลับหางนี้ เป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของพลวัตที่ถูกสร้างขึ้นเพราะองค์กรเหล่านี้ได้รับมอบเงินที่สร้างง่าย”

“เพื่อให้แน่ใจได้ว่าทั้งโลกจะยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักนั้น” คุณอัมมูสสรุป “IMF ทำให้สหรัฐอเมริกามั่นใจได้ว่าพวกเขาจะยังสามารถใช้นโยบายการเงินแบบเสกเงินได้ไม่อั้น และส่งออกเงินเฟ้อไปให้ทั้งโลกเป็นผู้แบกรับภาระต่อไปได้ ซึ่งสำหรับพวกเราแล้ว เมื่อเข้าใจถึงกลไกหลักของระบบการเงินโลกทุกวันนี้ว่ามันเป็นการโจรกรรมครั้งมโหฬาร เราจึงเข้าใจถึงชะตากรรมอันแสนรันทดของประเทศกำลังพัฒนาได้”

และมันเป็นมาเช่นนี้ยาวนานเกินจะจินตนาการไหว...

⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)


อ่านบทความในฟอร์แมทสวยๆ ได้ที่
Yakihonne| https://w3.do/9vqxs5U_

อ่านในรูปแบบสบายตาได้ที่
Habla | https://w3.do/WLEkCD5-

#IMF #worldbank #RightShift #RightShiftCuration
Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04