Why Nostr? What is Njump?
2023-11-05 04:12:48
in reply to

Riina on Nostr: เป็นบุคลิกพื้นฐานค่ะ ...

เป็นบุคลิกพื้นฐานค่ะ มีทั้งหมด9รูปแบบ เกิดจากปมที่ต่างกันไปในวัยเด็ก

โดยปกติแล้ว Mbti เป็นบุคลิกโดยกำเนิด คือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ละฟังก์ชั่นมักจะพัฒนาตามช่วงวัย (แต่บางคนไม่พัฒนาก็มี อยู่ที่แต่ละคน) คือเกิดมาก็เป็นแบบนั้นเลย ไม่ส่งต่อทางพันธุกรรม พ่อแม่และลูกบางทีจึงต่างกันสุดขั้วเลยก็มี

แต่นพลักษณ์ เกิดจากปมในวัยเด็ก จะมีลักษณ์ที่เด่นที่สุด และลักษณ์ข้างเคียง(เท่านั้น)ที่สนับสนุนลักษณ์เด่น

ยกตัวอย่างเช่นเราเป็นลักษณ์ 5w6 (ลักษณ์5 ปีก6) เขียนเป็น 5w6 (ปกติลักษณ์5 จะมี ปีก2ข้างคือ 5w6 หรือ 5w4 จะข้ามไปเป็น 5w3 หรืออื่นๆไม่ได้)

ความหมายคือ ลักษณ์ของเราคือ5(ผู้สังเกตุการณ์) ปีกที่เราใช้สนับสนุน5คือ ลักษณ์6(นักตั้งคำถามหรือผู้จงรักภักดี) ดังนั้น 5w6 ก็จะแตกต่างกับ 5w4 เพราะลักษณ์4คือความเป็นศิลปิน หากคนที่เป็น 5w4 ก็จะมีอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์มากกว่า 5w6 เป็นปกติ ส่วน5w6 ก็จะมีความระแวดระวังมากกว่า 5w4 เช่นกัน

ปกติแล้วนพลักษณ์และ mbti จะมีความเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างของเรานะคะ เราเป็น INTP 5w6 (ลักษณ์ 5w6 จะพบได้มากใน INTP) แต่แทบจะไม่พบลักษณ์ 2 หรือ 8 เลยใน INTP ประมาณนี้ค่ะ (แนบรูปไว้ให้แล้ว)

แถมข้อมูลให้ค่ะ
อันนี้คือ ปมของทุกนพลักษณ์

1 ลักษณ์หนึ่ง:
ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและคำวิพากย์วิจารณ์จากผู้อื่น

ในวัยเด็ก a) คำวิพากย์วิจารณ์จากผู้ใหญ่เป็นแรงกดดันให้ 1 ต้องทำทุกอย่างให้ดี ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ทั้งที่ยังอายุน้อยเกินไปที่ควรจะต้องแบกรับความรับผิดชอบนั้น b) ขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเนื่องจากความไม่มั่นคงและความกังวลภายในครอบครัว ทำให้ 1 ต้องแบกรับความรับผิดชอบ วางกฏระเบียบและความมั่นคงของครอบครัวด้วยตนเองครั้นแต่เยาว์วัย

1 จึงวางกลยุทธ์โดยการสร้างกฏเกณฑ์มาตรฐานและกิจวัตรที่มั่นคงขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเองจากคำวิพากย์วิจารณ์เพื่อความสบายใจ

2 ลักษณ์สอง:
ถูกขับเคลื่อนโดยความกลัวว่าความต้องการของตนจะถูกปฏิเสธ หรือไม่ได้รับการเติมเต็มจากใครสักคน

ในอดีตตนไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทั้งด้านความรักความห่วงใยและการดูแลเอาใจใส่ทางด้านอารมณ์ เช่น ได้รับการยอมรับและความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข 2 จึงมองว่า a) ความต้องการของตนอาจมีมากเกินกว่าที่ผู้อื่นจะสามารถให้ได้ b) พวกเขาไม่คู่ควรที่จะได้รับความเราความเอาใจใส่เหล่านั้น และหากเขาไม่ทำอะไรเขาคงจะไม่ได้รับความรักเพียงพอเท่าที่ต้องการ

2 จึงวางกลยุทธ์โดยการกดความต้องการของตนเองเอาไว้และเข้าช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยความคิดที่ว่าหากช่วยเหลือคนอื่นมากๆจะทำให้คนเหล่านั้นรักและกลับมาตอบสนองความต้องการในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้รับเพียงพอ

3 ลักษณ์สาม:
ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการการยอมรับที่เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเป็นที่รักของใครสักคนขึ้นอยู่กับความประสบความสำเร็จของเขา มากกว่าตัวเขาเองในฐานะคนคนหนึ่ง

เนื่องมาจาก a) พวกเขาได้รับคำชมเชยจากผู้ใหญ่ในวัยเด็กเมื่อทำสิ่งใดสำเร็จ ทำให้พวกเขาเชื่อว่าหนทางในการเป็นที่ยอมรับ ได้รับคำชมเชยหรือได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่น คือการแสดงว่าตนทำอะไรสำเร็จสักอย่าง b) ในวัยเด็ก 3 ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ตนเองต้องการ พวกเขาจึงรู้สึกว่าตนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครอง c) พวกเขาไม่ได้รับการปกป้องหรือการดูแลที่เพียงพอจากผู้ใหญ่ พวกเขาจึงเรียนรู้ที่จะทำอะไรต่างๆเพื่อความอยู่รอด หรือบางคนที่สูญเสียพ่อตั้งแต่เด็กๆ พวกเขาจึงต้องพยายามสร้างความสามารถให้มากเพียงพอ เพื่อลบช่องว่างที่ขาดผู้ปกครองให้หายไป

3 จึงวางกลยุทธ์โดยการ a) ทำตามมุมมองความคาดหวังของผู้ปกครองในด้านการประสบความสำเร็จ เพื่อให้ได้การยอมรับที่พวกเขาต้องการ b) พยายามเป็นในสิ่งที่คนรอบตัวให้คุณค่า เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ตัวเองให้ดูมีความสามารถ น่าค้นหา มีฐานะ เชื่อถือภาพลักษณ์นั้นที่ตนสร้างขึ้นมาเสมือนเป็นความจริง

4 ลักษณ์สี่:
ถูกขับเคลื่อนโดยความกลัวจากการสูญเสียและความเชื่อว่าตนไม่มีค่าคู่ควรกับความรัก

พวกเขาได้สัมผัสถึงการสูญเสียความรักในวัยเด็ก ถูกกีดกันหรือถูกทอดทิ้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้น พวกเขาจึงเชื่อว่าตนมีส่วนผิดในความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น แม้โดยส่วนมากจะไม่เป็นความจริง แต่ความรู้สึกนี้ก็ช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตนสามารถทำอะไรกับบางอย่างกับมันได้

4 จึงวางกลยุทธ์โดยการจดจ่อและคอยรำลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมองว่าตนไม่ดีไม่คู่ควรกับความรัก และโหยหาความรักในอุดมคติที่จะสามารถมาชดเชยการสูญเสียครั้งนั้นได้

5 ลักษณ์ห้า:
ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการพึ่งพาตนเอง ปกป้องพลังงานและทรัพยากรที่มีจำกัดของตนเอง

ขณะที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากผู้ปกครองหรือคนอื่นๆ พวกเขาถูกมองข้ามหรือโดนกลบความสนใจไปโดยผู้อื่น ทั้งที่เขาต้องการความช่วยเหลือเพื่ออยู่รอด คนรอบตัวขาดความใส่ใจในความต้องการของเขา เขาจึงรู้ว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบังคับหรือเกลี้ยกล่อมให้คนสนใจนอกเสียจากต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง เขาจึงเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่กับทรัพยากรอันน้อยนิดที่พวกเขามี

5 จึงวางกลยุทธ์โดยการปลีกวิเวก อยู่กับตนเองบนโลกที่ไม่มีทรัพยากรหรือความปลอดภัยเพียงพอ เพื่อปกป้องตนจากภัยอันตรายจากภายนอก ล้มเลิกความสนใจและพึ่งพาความสัมพันธ์ ลดความต้องการของตนเองสงวนทรัพยากรที่มีเอาไว้ และให้ความสนใจในความรู้ทางปัญญาแทน

6 ลักษณ์หก:
ถูกขับเคลื่อนโดยความเชื่อที่ว่าโลกเป็นสถานที่อันตราย

ประสบการณ์ที่อันตรายต่างๆในวัยเด็ก a) ผู้ปกครองติดเหล้า ป่วยทางจิต ใช้ความรุงแรง หรืออ่อนแอเกินไปที่จะปกป้องเขา b) พวกเขาอาจเผชิญเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย ถูกลงโทษอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นเวลานาน c) ใช้ชีวิตอยู่กับผู้ปกครองที่ไม่น่านับถือ โลเล และขาดความมั่นคง ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความขาดแคลนผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจใกล้ตัวที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้

6 จึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสังเกตความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญานที่นำไปสู่ภัยอันตราย และสามารถคาดเดาถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาได้ ทำให้พวกเขาสามารถเตรียมพร้อมสำหรับภัยอันตรายก่อนที่มันจะมาเยือนได้ แต่ว่าแต่ละ subtype ก็มีกลยุทธ์ในการรับมือกับภัยอันตรายที่แตกต่างกันออกไป

7 ลักษณ์เจ็ด:
ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดความรู้สึกแย่โดยการโฟกัสในความคิดหรือกิจกรรมที่ทำให้เขารู้สึกดี

พวกเขามีประสบการณ์ที่ดีในวัยเด็กและมักจะมีชีวิตแฮปปี้ไร้ความกังวล ความทรงจำเหล่านั้นมักจะหอมหวานกว่าที่ความเป็นจริงเสมอ อย่างไรก็ตามพวกเขาได้เผชิญกับประสบการณ์เรื่องแย่ๆอย่างกะทันหันในขณะที่พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับมือ เหมือนตกจากสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ 7 จึงหลบหนีความกลัวโดยการหลบอยู่ภายใต้ความทรงจำที่หอมหวานที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยและมีทรัพยากรเพียงพอ หรือมุ่งหาประสบการณ์ที่สนุกสนานเบิกบานและมีความสุข

7 จึงวางกลยุทธ์โดยการพยายามเปลี่ยนเรื่องแย่ๆให้กลายเป็นเรื่องที่ดีเพื่อหลบหนีเรื่องแย่ๆไปอยู่ในความทรงจำที่ดี

8 ลักษณ์แปด:
ถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการที่จะรู้สึกมีพลังและมีอำนาจ

ในวัยเด็ก 8 โตมากับสภาพแวดล้อมที่มีการต่อสู้และความขัดแย้งสูง ทำให้พวกเขาต้องเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอด ส่วนมากพวกเขามักจะถูกพรากประสบการณ์ในวัยเด็กออกไปหรือไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ พวกเขามักประสบกับสถานการณ์ความรุนแรงหรือถูกมองข้ามไป โดยส่วนมาก 8 มักจะเป็นลูกคนสุดท้องในครอบครัวใหญ่ และในมุมมองของ 8 พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ โดยการปฏิเสธความจริงว่าตัวเองอ่อนแอ และสวมท่าทีว่าตนนั้นมีอำนาจและมีพลัง เพื่อเอาชีวิตรอดในโลกที่ไม่มีความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัยไว้ให้สำหรับพวกเขา

8 จึงวางกลยุทธ์โดยการแสดงความเข้มแข็งและพยายามเข้าควบคุมในทุกสิ่งที่ตนสามารถทำได้ ปกปิดความอ่อนแอของตัวเองและสร้างความเชื่อว่าตนนั้นแข็งแกร่ง

9 ลักษณ์เก้า:
ถูกขับเคลื่อนโดยความสงบสุขและการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้อื่น

เนื่องมาจากครอบครัวที่เขาเติบโตมา a) ไม่รับฟังความคิดเห็นของเขา ในขณะที่คนอื่นๆได้ออกความคิดเห็น b) ความปรารถนาและความชอบของเขาไม่ได้รับความสนใจ c) ต้องคล้อยตามคนอื่นถ้าอยากจะอยู่อย่างสงบสุขหรือหลีกเลี่ยงความร้าวฉาน 9 มักจะเป็นลูกคนกลางหรืออยู่ในครอบครัวใหญ่ ในบางครั้งผู้ปกครองมีอำนาจในการควบคุม พวกเขาจึงต้องยอมจำนนความต้องการของตัวเองและทำตามความต้องการของคนอื่นเพื่อคงความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้

9 จึงวางกลยุทธ์โดยการลืมความต้องการของตนเอง รวมถึงความเจ็บปวดที่ไม่ได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ พยายามปรับตัวเข้าหาคนอื่นเพื่อค้นหาสันติสุขและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

แหล่งอ้างอิง: Beatrice

#siamstr





Author Public Key
npub1pcrwas9n9uwmzqcsqh0alselauulx0vkdwzns3jv5wwcwvsjlvts5sqlaq